บอร์ดกนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตามคาด พร้อมระบุแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
บ่ายวันนี้ (16 พ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามตลาดคาด โดยการประชุมครั้งนี้มีกรรมการ 1 คนลาประชุม
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% มีมาตั้งแต่ 29 เม.ย.2558
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและน่าจะเติบโตมากกว่า 4.1% จากการประเมินครั้งก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยังไม่ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือน ส่วนการจ้างงานแม้มีสัญญาณดีขึ้น แต่การจ้างงานยังไม่ทั่วถึงส่วนปัญหาหนี้สินของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง โดยกนง.เห็นว่าการแก้ปัญหานี้จะมีนโยบายที่เข้าไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยเข้าสู่กรอบล่างของคาดการณ์แล้วเมื่อเดือนที่แล้ว ดังนั้น กนง.เห็นว่าการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%”นายจาตุรงค์กล่าว
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง.ประเมินว่า การลงทุนเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ แต่ยังคงมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภาคนอก เช่น ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ มาตรการตอบโต้จากคู่ค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับคู่ค้าถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
“ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลังและการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลัก กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป”นายจาตุรงค์กล่าว
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า แม้ว่าระบบการเงินโดยรวมจะมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้ความเห็นว่า ทันทีที่กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% นับเป็นการตรึงดอกเบี้ยครั้งที่ 24 ติดต่อกัน ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 32.12 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย