BBL กำไรโตดี ราคาถูก BAY แกร่งสุด สินเชื่อเม.ย.

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยวิเคราะห์ระบบแบงก์เดือนเม.ย. สินเชื่อโตต่อเนื่อง 0.2%จากมี.ค.และขยายตัว 4.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ธุรกิจใหญ่และรายย่อยใช้บริการ NPL ลดลงจากไตรมาส 4 ธปท.คาดทั้งปีสินเชื่อโต 5-6%

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย วิเคราะห์ข้อมูลธนาคาร 8 แห่ง รายงานสินเชื่อเดือนเม.ย. เติบโต 0.2% จากเดือนมี.ค. หรือ โต 4.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ได้แรงหนุนจากสินเชื่อรายย่อย และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา( BAY) รายงานสินเชื่อเติบโตแข็งแกร่งสุด

ส่วนยอดเงินฝากเดือนเม.ย.เติบโต 1.2% จากเดือนมี.ค. และ 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ลดลงเป็น 90.7% จาก 91.5% สำหรับตัวเลข NPL ลดลงเล็กน้อยเป็น 2.49% จาก 2.63% ในไตรมาส 4/2561 ทั้งในส่วนภาคอุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อการบริโภค

อย่างไรก็ตามตัวเลขการกลับมาเป็น NPL ใหม่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในส่วนสินเชื่อภาคการพาณิชย์และการบริโภค

Top pick กลุ่มนี้คือธนาคารกรุงเทพ( BBL) จากแนวโน้มกำไรโตดี Valuation ยังถูกอยู่

บล.ธนชาต ยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร แม้ว่าสินเชื่อเดือนเม.ย. จะเติบโตเล็กน้อย และ BBLจะได้รับผลกระทบจากการชำระคืนหนี้ก็ตาม

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2562 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 5.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่เติบโต 6% คาดทั้งปีโต 5-6%
สินเชื่อชะลอตัวมาจากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางรายในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีในทุกพอร์ต  สินเชื่อธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วน 65.3% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 3.4% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน)  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 4.4% ซึ่งเป็นการขยายให้สินเชื่อในธุรกิจสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ขณะที่มีการทยอยชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ในธุรกิจบริการ

สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวชะลอลงจาก 4.5% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.5% จากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ที่ใช้วงเงินสินเชื่อสูงบางรายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม  สินเชื่ออุปโภคบริโภค สัดส่วน 34.7% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 10.1% โดยเป็นการขยายตัวสูงในทุกพอร์ต

นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) หลังพบว่า สินเชื่อประเภทรถแลกเงินแบบโอนรถ และจำนำทะเบียนรถ ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวกว่า 30% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวเพิ่มเป็น 10% ซึ่งการจะออกมาตรการควบคุมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาให้ชัดว่าปัญหาเป็นลักษณะใดบ้าง

สำหรับคุณภาพสินเชื่อ NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.94% ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 454 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10 พันล้านบาท ในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ และขายหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) เพิ่มขึ้นจาก 2.42% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.56% จากสินเชื่อธุรกิจ SME เป็นสำคัญ

สำหรับ NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาที่ 1.71% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.66% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.35% จาก 3.25% สินเชื่อบัตรเครดิต 2.67% จาก 2.34% และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.56% จาก 2.53% รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาเชิงโครงการสร้าง ที่ 4.60% จาก 4.46%

ในไตรมาส 1/2562 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 57.1 พันล้านบาท ขยายตัว 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ที่เป็นรายการพิเศษ รวมทั้งค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะหดตัวต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายพนักงานจะสูงขึ้นจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ( ROA) เพิ่มขึ้นจาก 1.05% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.20% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย ( NIM) ทรงตัวที่ 2.82%

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,567 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 2,000 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 18.2% และ 15.7% ตามลำดับ