HoonSmart.com>>ทริส เรทติ้ง ปรับเพิ่มเครดิต “ช. การช่าง” เป็น “A” จาก “A-” แนวโน้ม Stable สะท้อนความเป็นผู้นำผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในไทย ขยายลงทุนในกลุ่มบริษัท หนุนผลตอบแทนดี ลดความเสี่ยงความผันผวนอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ด้านหนี้สินลดลง
ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ช. การช่าง (CK) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของบริษัทที่สูงขึ้นในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในกลุ่มบริษัทในเครือซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ดี แนวโน้มการเติบโตของกำไรของบริษัท และภาระหนี้ของบริษัทที่ลดลง
อันดับเครดิตยังสะท้อนรวมถึงความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความแข็งแกร่งในการดำเนินโครงการและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ปัจจุบันบริษัทลงทุนและคงสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 3 บริษัทดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือสัญญาซื้อขายระยะยาว
ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้มากขึ้นจากการลงทุนของบริษัท ทั้งโดยคาดว่าบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพและ บริษัทซีเคพาวเวอร์ ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากบริษัททีทีดับบลิวประมาณ 450-500 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ทริสคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-33,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะรักษาระดับไว้ที่อย่างน้อย 8% และบริษัทสามารถได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่มูลค่า 30,000-35,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนเงินสนับสนุนให้กู้ยืมในโครงการไซยะบุรียังคงมีอยู่ในช่วงหลายปีข้างหน้า รวมทั้งไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่หรือการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน
ในส่วนของภาระหนี้ CK ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 57.2% ลดลงจากระดับ 65%-70% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า หลังจากโอนภาระเงินกู้ยืมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปให้แก่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังทรงตัวอยู่ในระดับ 52.9% ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทต้องให้การสนันสนุนเงินกู้ยืมระยะยาวในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีประมาณ 14,000 ล้านบาท