ยอดขายล่วงหน้าหุ้นปตท.โผล่ 5 ล้านหุ้นสัดส่วนเกิน 5% เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ส่งสัญญาณเตือนราคาหุ้นร่วงต่อ กดดันตลาดรูดลงแรง เอเซียพลัสแนะให้โยกออกจากปตท.-ปตท.สผ.ไปซื้อIRPC-BANPU ส่วนเมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองสวนทาง เพิ่งปรับเป้าเป็น 58 บาท
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเอเชีย รวมถึงหุ้นไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวันศุกร์ที่ 4 พ.ค.2561 ที่มียอดขายสุทธิสูงถึง 4,144 ล้านบาท และรวมทั้งเดือน(2-4 พ.ค.) ต่างชาติขายสุทธิ 8,530.27 ล้านบาท พุ่งเป้าทิ้งหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม หุ้นพลังงาน โดยเฉพาะบริษัทปตท.(PTT) ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุน มีแรงซื้อเก็งกำไรเรื่องการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(แตกพาร์)จากหุ้นละ 10 บาท เหลือ 1 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา และในวันรุ่งขึ้นก็มีข่าวเรื่องคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ในสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อดำเนินธุรกิจกาแฟ “Cafe Amazon” เป้าหมายสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล (Global Brand)
นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงส่งให้ราคาหุ้น PTT ไปต่อได้ คือราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นแตะ 70 ดอลลารสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้การซื้อขายหุ้นปตท.ค่อนข้างแรงผิดปกติ โดยเฉพาะวันที่ 2 พ.ค. ราคาหุ้นดีดกลับมาปิดที่จุดสูงสุดของวันที่ 57 บาท บวก 0.50 บาท ทั้งๆที่ระหว่างวันลงไปต่ำสุดที่ 55.25 บาท และพยายามไปต่อ แต่วันศุกร์ที่ 4 พ.ค. หุ้นปตท. ปิดที่ 56.75 บาท ติดลบ 0.75 บาท หรือ 1.30% ปรับลงแรงกว่าตลาดโดยรวม ดัชนีรูดลง 0.61% ติดลบ10.93 จุด ปิดที่ระดับ 1,779.87 จุด
มาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่า นักลงทุนหันมาเก็งกำไรหุ้นPTT หลังจากแตกพาร์เพราะราคาหุ้นในแต่ละเหวี่ยงขึ้นลงแรง มีโอกาสทำกำไรช่วงสั้น ๆ ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นปตท.มีสัดส่วนมากกว่า 10% ของการซื้อขายทั้งตลาด แต่ก็น่าเป็นห่วง เพราะแรงซื้อขายกระจุกตัวหุ้นปตท.และช่วยประคองตลาดไม่ให้รูดลงแรงตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ แต่หากราคาหุ้นปตท.ปรับตัวลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ จะมีโอกาสให้ดัชนีหุ้นรูดลงแรง ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกเทขายหุ้นในพอร์ตทิ้ง
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานข้อมูลการขายชอร์ตหุ้น(ชอร์ตเซล)ของวันที่ 4 พ.ค.2561 พบว่า หุ้น PTT ถูกชอร์ตเซลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มากกว่า 5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.03% ของการซื้อขายหุ้นปตท.ในวันนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนและหลังแตกพาร์ ยอดขายชอร์ตมีสัดส่วน ประมาณ 1-2% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันเท่านั้น
ทั้งนี้ หุ้นที่ถูกชอร์ตเซลจำนวนมาก เกิดจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวลง จึงขายหุ้นออกมาก่อน เพื่อรอจังหวะซื้อหุ้นในราคาต่ำในภายหลัง
ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัสออกบทวิเคราะห์การลงทุนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 เม.ย.-4 พ.ค.)แนะนำให้ Switch หุ้น PTT และบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ.( PTTEP) หลังราคาปรับขึ้นมาจนเต็มมูลค่าที่เหมาะสมแล้ว 54 บาท และ 137 บาทตามลำดับ และให้ไปซื้อหุ้นบริษัทไออาร์พีซี(IRPC) แทน โดยฝ่ายวิจัยคงสมมติฐานราคาน้ำมันของปีนี้ไว้ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และในวันที่ 3พ.ค.ได้ออกวิเคราะห์ย้ำให้ Switch หุ้น PTT,PTTEP และให้เข้าหุ้นบริษัทบ้านปู(BANPU) แทน ให้มูลค่าเหมาะสม 25.60 บาท
ขณะที่นักวิเคราะห์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ออกบทวิเคราะห์วันที่ 4 พ.ค. ยังคงยืนยันแนะนำ”ซื้อ” PTT และปรับเพิ่มมูลค่าเหมาะสมเป็น 58 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 51.20 บาท หลังปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าขึ้น 6.8-11.6% เป็น 135,200 ล้านบาทและ137,400 ล้านบาทตามลำดับ จากการปรับสมมุติฐานราคาน้ำมันดูไบ เป็น 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จึงต้องปรับประมาณการกำไรของ PTTEP, PTTGC และIRPC