จากเซียนหุ้น นั่งเฝ้าจอเก็งกำไรไปวัน ๆ ในห้องค้าโบรกเกอร์ ที่แวดล้อมด้วยคอมพิวเตอร์รอบตัวเพียบพร้อมด้วยน้ำชา-กาแฟ ไว้คอยบริการ ยามเย็นได้สลวลเสเฮฮากับเพื่อน บรรยากาศแบบนี้ เซียนหุ้นแทบทุกคนเคยได้รับ
ปัจจุบันพัฒนาการที่เปลี่ยนไปของตลาดทุน การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยการซื้อขาย และภาวะการลงทุนที่ไม่เอื้อการเก็งกำไร ซึ่งปี 2561 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นติดลบ 10% ลงทุนมากขาดทุนมาก ลงทุนน้อยขาดทุนน้อย แต่ขาดทุนกันถ้วนหน้า
เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้เงิน หุ้น IPO ขาดทุน การลงทุนระยะยาวติดลบ ทำให้นักลงทุนถอดใจ เสี่ยใหญ่บางคนหันหลังให้กับตลาดทุนมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แล้วมุ่งหน้าสู่ธุรกิจปั้นรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางคนหันไปลงทุนกับสุขภาพแทน ไปทุ่มเทกับครอบครัว ลูกหลาน ได้ผลลัพธ์ทางจิตใจที่มากกว่าตัวเงิน
“เสี่ยยักษ์ – วิชัย วชิรพงศ์” เสี่ยนักลงทุนรายใหญ่ พอร์ตไม่น้อยกว่าหลักพันล้าน โชกโชนกับหุ้นทุกรูปแบบ ทั้งการเก็งกำไร ลงทุนระยะกลาง-ยาว เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนหุ้นปตท. (PTT) จำนวนมหาศาล หรือการลงทุนหุ้นเฉพาะเจาะจง (PP) ราคาถูก ๆ ขายได้ราคาสูง ๆ
มาวันนี้ “เสี่ยยักษ์” ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากเซียนหุ้นเฝ้าจอ แทบจะไม่คอมเม้นท์ตลาดหุ้น ทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดที่มีให้กับการดูแลสุขภาพ การปั่นจักรยาน เข้าฟิสเนสฯ และอีกหลายกิจกรรมที่ทำให้สุขภาพดูดี แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ที่เงินก็ซื้อไม่ได้
อีกโมเม้นท์หนึ่ง ที่ “เสี่ยยักษ์” ยังดำรงคงไว้ไม่ทิ้งคราบการลงทุน นั่นก็คือ การซื้อกิจการบริษัท สบาย เทคโนโลยี (หรือ เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น) เจ้าของธุรกิจตู้เติมเงินออนไลน์ “เติมสบาย” และตู้กดเครื่องดื่มกระป๋อง “เวนดิ้ง พลัส” มาฟื้นฟูและปั้นเข้าตลาดหุ้น ในไตรมาส 3/2562 นี้
เสี่ยใหญ่อีกราย “เสี่ยแตงโม” หรือ “สมเกียรติ ธนัตถ์เจริญกุล” เซียนหุ้นรุ่นเก๋า บอกว่า ตลาดหุ้นไม่ดี ต้องหยุดเก็งกำไร ตลาดไม่สดใสไม่ลง แต่ไม่มีโอกาสขึ้น ส่วนตัว “เสี่ยแตงโม” หยุดเทรดเก็งกำไรมาพักใหญ่ ๆ จะรอจนกว่าตลาดมีแนวโน้มสู่ขาขึ้น หรือปัจจัยจีน-สหรัฐ เลิกทะเลาะกันจึงกลับมาเทรดอีกครั้ง
“ตลาดไม่ดี ผมไม่เอาเลยเก็งกำไร หยุดเลย ส่วนการลงทุนระยะยาว ยังเหมือนเดิม ช่วงที่ผ่านมา ผมขาดทุนหุ้นทรู และโรงไฟฟ้า TSE ตลาดไม่ดี การถือลงทุนยาว ๆ ดีก็จริง แต่ก็เป็นรอบ ๆ ของหุ้น ไม่ว่าหุ้นตัวนั้นจะดี แต่มีกำไรก็ขาย เล่นเป็นรอบ ๆ”
เรียกได้ว่า ช่วงหยุดพักรอตลาดฟื้นนั้น “เสี่ยแตงโม” ได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับลูกชายคนเล็ก ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 4 โรงเรียนนานาชาติที่เชียงใหม่ เฝ้าดูการฝึกซ้อมว่ายน้ำตลอดหลายปีที่ผ่านมา “เสี่ยแตงโม” ทุ่มทุนแรงกาย-แรงใจ กับการปั้นลูกชาย กระทั่งประสบความสำเร็จนำมาซึ่งความสุขที่สุดของเสี่ยแตงโม นั่นก็คือ การที่เด็กชาย “ธนัตถ์ภัทร ธนัตถ์เจริญกุล” เป็นนักกีฬาว่ายน้ำสมบูรณ์แบบ กีฬานักเรียน-นักศึกษา นักกีฬาเยาวชนแห่งชาติ นักกีฬาระดับจังหวัด-ระดับภาค และความปลื้มปริ่มกับลูกสาวคนโตที่กำลังจะจบปริญญาโท สาขาการโรงแรมจากสวิสเซอร์แลนด์ ในเดือนก.พ.นี้ด้วย
ไม่เพียงความสุขใจจากครอบครัว “เสี่ยแตงโม” ยังมีธุรกิจอสังหา ฯ การสะสมที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเดือนพ.ค.นี้กำลังจะลงมือปรับปรุงโรงแรมกว่า 100 ห้อง แถววัวลาย จ.เชียงใหม่ ที่ซื้อติดมือแล้วมาปรับปรุงเพื่อขาย ส่วนโรงแรมที่เป็นหัวใจของเสี่ย อยู่ท่าแพ ติดห้างตันตราภัณฑ์ ที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน เช่นเดียวกับหุ้นลงทุนระยะยาว EA ในดวงใจของเสี่ย
ด้าน “เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” นักลงทุนเทคนิคเคิลรายใหญ่ บอกว่า ปัจจุบันชะลอการลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ ต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับสงครามการค้า ส่วนปัจจัยภายในเกี่ยวกับความชัดเจนการเลือกตั้ง การลงทุนขณะนี้ยากขึ้น เพราะต้องแข่งขันกับกองทุนรวม และโปรแกรมเทรด AI แต่หากสถานการณ์มีทิศทางที่ดีขึ้น และมองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน
“ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงหากเป็นช่วงปี 2560 ตลาดหุ้นขึ้นมาเยอะ ก็ทำให้มกำไร แต่พอถึงปี 2561 ตลาดปรับตัวลงมาก พอร์ตของผมก็ขาดทุน ส่วนปีนี้ยังตอบอะไรไม่ไดเพราะรอดูสถานการณ์ ที่ผ่านมาก็มีการซื้อบ้างแต่ไม่มาก”
เขากล่าวว่า ช่วงปลายปี 2561 เริ่มหันไปลงทุนทอง เพราะมองว่าแนวโน้มราคาน่าจะดีขึ้น แต่เป็นการซื้อที่ยังไม่มาก ขณะเดียวกัน เข้าไปลงทุนในบริษัทที่อยู่นอตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 4 บริษัท ในสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่มาก ประกอบด้วยบริษัทประกอบธุรกิจลิสซิ่ง ถือหุ้นประมาณ 5% บริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านโรงไฟฟ้า ถือหุ้น 0.5% และบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้าน AI อีก 2 บริษัท ถือหุ้นในสัดส่วนไม่มากเช่นกัน ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ก็เชื่อว่าเมื่อเข้าจดทะเบียนแล้ว จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมา
เสี่ยป๋อง กล่าวทิ้งท้ายว่า เปิดพอร์ตซื้อขายหุ้นไว้กับโบรกเกอร์หลายแห่ง ประกอบด้วยบล.เอเซีย พลัส, บล.ภัทร, บล.กสิกรไทย, บล.บัวหลวง และบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมาก็ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO หลายบริษัท แต่เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้อ จึงทำให้พอร์ตขาดทุนจากหุ้น IPO ดังกล่าว