นักลงทุนทิ้งหุ้นแบงก์ใหญ่ หนีขึ้นดอกเบี้ยฝากขาเดียว กดส่วนต่างแคบลง นักวิเคราะห์คาดขยับดอกเบี้ยเงินกู้ตามเร็วๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อกำไรปีนี้ไม่มาก บล.โนมูระพัฒนสิน แนะทยอยสะสม
ตลาดหุ้นไทยวันที่ 4 ม.ค.2562 ปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ถูกขายออกมามาก หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) นำร่องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทอัตรา 0.25% และธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ปรับตามด้วย มีผลเฉพาะบัญชีที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้เท่าเดิม ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสทธิลดลง กดดันหุ้น SCB ลงไปต่ำสุดที่ 130.50 บาท ก่อนขึ้นมาบริเวณ 132 บาท ลดลง 3 บาทหรือ 2.22% ตามด้วย KBANK ซื้อขายที่ 184.50 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 0.81% และมีผลถึงหุ้นธนาคารกรุงเทพ(BBL) ลดลง 2 บาทหรือ 0.98% ซื้อขายที่ 203 บาท เพราะคาดว่าธนาคารกรุงเทพจะต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามด้วย
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) คาดว่าธนาคารอื่นๆ จะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามมาในเร็วๆ นี้และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพื่อบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในปี 2562 ทางบล.ดีบีเอสฯประเมินว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยธนาคารใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว และลดลงในธนาคารเล็กเพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็น Flat Rate สูง รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตได่ไม่มาก เพราะธุรกิจประกันก็ฐานใหญ่ขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการส่งออกก็ขยายตัวน้อยลง ไม่มีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนผ่านระบบดิจิตอล รวมทั้งยังต้องลงทุนระบบไอทีเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งที่เป็น Upside Risk คือ กําไรจากการขายเงินลงทุน
ฝ่ายวิจัยบล.ดีบีเอสฯประมาณการกำไรสุทธิของ 8 ธนาคารที่วิเคราะห์ จะเติบโต 4% ในปี 2562 โดย BBL เป็นธนาคารที่มีกําไรโตดีสุดในแบงก์ใหญ่ที่ 6% ขณะที่ KBANK, SCB, KTB โต 3-4% และ TISCO มีกําไรโตดีสุดในแบงก์เล็กที่ 10% ส่วนกําไร KKP โต 6% และ TCAP ติดลบ 2% เพราะอัตราภาษีจ่ายสูงขึ้น ด้าน TMB กําไรโต 5%
“ในเชิงกลยุทธ์ให้ซื้อ BBL ราคาพื้นฐาน 260 บาท เป็นหุ้นเดียวในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เพราะสินเชื่อในประเทศและต่างประเทศขยายตัวได้ดีจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และ TISCO ราคาพื้นฐาน 102 บาท เป็นหุ้นเดียวในธนาคารเล็ก จุดเด่นคือการจ่ายเงินปันผลสูงประมาณ 6% ต่อปี จ่ายปีละ 1 ครั้ง”บล.ดีบีเอสระบุ
บล.โนมูระพัฒนสินคาดว่าธนาคารที่เหลือจะทยอยประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย จากการวิเคราะห์ธนาคารที่ศึกษาทั้ง 8 ธนาคาร การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียว เป็นเวลา 12 เดือน จะส่งผลต่อ NIM ในปี2562 ลดลงในช่วงระหว่าง 0.03-0.11% กระทบกำไรสุทธิจากคาดการณ์ในปัจจุบันที่ 1-8.5% โดยกลุ่มที่เน้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์ได้รับผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 1-2.8% ส่วน 4 ธนาคารขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบประมาณ 3.2 – 3.6% มีเพียง TMB ที่คาดผลกระทบจะรุนแรงที่สุดที่ 8.5%
ปัจจุบันประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารที่ 188,242 ล้านบาท ในปี 2562 ภายใต้สมมติฐานการขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีเลวร้ายที่สุดคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน จะทำให้ประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มในปีนี้ ลดลง 3.5%
ส่วนประมาณการกำไรสุทธิไตรมาส 4/2561 ของ SCB บล.โนมูระพัฒนสิน คาดว่าจะทำได้ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากระยะเดียวกันในปีก่อน เป็นการโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 แม้ว่าจะลดลง 5% จากไตรมาส 3 ก็ตาม ส่วนไตรมาส 1/2562 คาดจะทรงตัว เนื่องจากค่าใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง รวมถึงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ที่คาดว่าจะมีผลต่อกำไรในปีนี้ประมาณ 3-4% เท่านั้น แนะนำทยอยสะสมเมื่ออ่อนตัวที่ราคาเป้าหมาย 156 บาท