“บัณฑูร ล่ำซำ” ประกาศ ธนาคารกสิกรไทยจะไม่เป็นผู้นำขึ้นดอกเบี้ย แม้แบงก์ชาติจะปรับดอกเบี้ยขึ้น เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่มาก ระบุดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ควรเพิ่ม เพราะจะทำให้ประชาชนแบกหนี้เพิ่มขึ้น “กรุงศรี” มั่นใจพรุ่งนี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน แต่จะไม่กดดันให้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เพิ่มตามไปด้วย
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ไม่สามารถประเมินได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. หรือไม่ แต่หากจะปรับขึ้นดอกเบี้ยคาดว่าจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะเป็นการปรับขึ้นในเชิงนโยบายเท่านั้น ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตามไปด้วย
“พรุ่งนี้ (19 ธ.ค.) แบงก์ชาติจะขยับดอกเบี้ยไหม ไม่รู้ ส่วนธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีการแข่งขันเงินฝาก หรือ ปล่อยเงินกู้อะไรกันมากมาย ถ้าถามว่า (ธนาคาร) มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องไหมก็ไม่มี ต้องไปหาเงินฝากไหม ต้องไปหาเงินมาปล่อยกู้ไหมก็ไม่มี ต้องปล่อยไปตามภาวะของเศรษฐกิจ” นายบัณฑูร กล่าว
นอกจากนี้ นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า หากธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้กู้รายย่อยจะเดือดร้อนแน่
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันพรุ่งนี้ (วันที่ 19 ธ.ค. 2562) จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% แน่นอน และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้ง 0.25% ในปี 2562 โดยเชื่อว่าจะปรับในช่วงไตรมาส 1 หรือ ก่อนการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 หลังจากนั้นทรงตัวที่ 2%
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ธปท. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 หรือ 2 ครั้ง จะไม่ได้กดดันให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูง” นายตรรก กล่าว
น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า “สาเหตุที่เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ ธปท. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพราะตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ธปท. ส่งสัญญาณชัดเจน และซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ธปท.ต้องการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ”
“ดังนั้นหาก ธปท. ปรับขึ้นจริง ตลาดจะไม่ตกใจ เพราะรับข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.5% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก นอกจากนี้ ธปท. ยังมักพูดถึงการสร้าง Policy Space เพื่อให้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการหากเกิดช็อคทางเศรษฐกิจ การขยายตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง” น.ส. รุ่ง กล่าว
อ่านประกอบ