“ดอนเมืองโทลล์เวย์” เผยงบ 3 ปี 900 ล้านบาท ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ โครงการ SMART Project ติดกล้อง AI เกือบ 300 ตัว – ปรับปรุงด่านเก็บเงิน – วางระบบเชื่อมต่อ Easy Pass และ M-Pass คาดเริ่มใช้ได้ปลายปี 2563 เผยสนใจร่วมประมูลงานทางด่วน
นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจและการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ กล่าวว่า ในปี 2561 – 2563 บริษัทใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางยกระดับ (SMART Step) โดยแบ่งเป็น 4 โครงการ ได้แก่
1. โครงการ SMART Project หรือ ระบบบริหารจราจรแบบอัตโนมัติ ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท โดยติดตั้งระบบอัตโนมัติ และกล้องอัจฉริยะที่นำ AI มาช่วยบริหารจัดการ ทำให้สามารถตรวจจับความผิดปกติบนเส้นทาง เช่น อุบัติเหตุ รถจอดเสีย หรือ สิ่งของตกหล่น ได้ภายใน 3-5 วินาที ซึ่งสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ใช้ทางและบรรเทาปัญหาการจราจรได้เร็วขึ้น
“ระบบเดิม ซึ่งใช้มานานมีกล้อง CCTV อยู่ประมาณ 40 ตัว แต่ระบบใหม่จะติดตั้งกล้องอัจฉริยะทุกๆ 300 – 500 เมตร รวมกันแล้วเกือบ 300 ตัว โดยจะเริ่มติดตั้งในปี 2562 และเริ่มใช้งานได้ปี 2563 นอกจากนี้ ยังจะติดตั้งป้ายอัจฉริยะบอกระยะเวลาการเดินทาง สภาพการจรจาจร ซึ่งประมวลผลด้วยระบบ AI” นายศักดิ์ดา กล่าว
ทั้งนี้ นายศักดิ์ดา กล่าวว่า โครงการ SMART Project มีปรัชญาของคำว่า SMART ประกอบด้วย
S: Safety (ความปลอดภัย)
M: Manageable (บริหารจัดการได้)
A: Accurate (ความถูกต้อง)
R: Reliable (เชื่อถือได้)
T: Traffic Control System (การควบคุมระบบบริหารจัดการการจราจรโดยรวม)
2. การเปลี่ยนอุปกรณ์ทดแทนระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบเดิม (Manual Toll Collection) ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานนานแล้ว
3. การเตรียมระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection) ทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการและด่านเก็บค่าผ่านทาง ใช้งบประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการเชื่อมต่อการใช้บัตร Easy Pass และ M-Pass ในการชำระค่าผ่านทาง ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในปลายปี 2563
4. การปรับปรุงทางกายภาพของทางยกระดับ ใช้งบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยปรับปรุงด่านเก็บค่าผ่านทาง ขยายช่องทาง แก้ปัญหาทางที่เป็นจุดเชื่อมและคอขวด
สำหรับผลดำเนินงานในปี 2561 นายศักดิ์ดา คาดว่า รายได้จะเติบโตประมาณ 2% จากปี 2561 ที่มีรายได้จากค่าผ่านทาง 2,978 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% เนื่องจากปริมาณผู้ใช้ทางเพิ่มขึ้น 2-3% แม้ว่าในช่วงที่ปิดทางกลับรถดอนเมืองจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่หลังจากเปิดใช้งานปริมาณรถกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ 8 แสนคัน/วัน
“ปัจจุบันทางด่วนในเมืองพื้นที่ชั้นใน ซึ่งรวมถึงดอนเมืองโทลล์เวย์ ส่วนใหญ่มีปริมาณจราจรลดลง โดยมีอัตราเติบโตเพียง 0.5% เนื่องจากผู้ใช้ทางเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการชนส่งมวลชนมากขึ้น ขณะที่ทางด่วนระหว่างเมืองเติบโต 7%” นายศักดิ์ดา กล่าว
นอกจากนี้ นายศักดิ์ดา ยังกล่าวอีกว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง สนใจและมีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลงานทางด่วนที่ภาครัฐเปิดให้ร่วมประมูล
“ตามแผน 20 ปีของภาครัฐ มอเตอร์เวย์มีแผนจะทำทั้งหมด 6,000 กม. และส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน (PPP) ซึ่งอาชีพเราบริหารทางด่วนมา 30 ปี อันไหนที่ภาครัฐเปิดโอกาส เราก็อยากใช้ความรู้ความสามารถของดอนเมืองโทลล์เวย์ให้เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ต่อประชาชนเราก็สนใจเข้าร่วมประมูลทุกโครงการที่เรามีศักยภาพจะทำได้” นายศักดิ์ดา กล่าว
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 เส้นทาง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มูลค่าประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ที่กรมทางหลวงจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) นั้น บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาด้านต้นทุนว่าจะสามารถเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่
ทั้งนี้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง เป็นผู้บริหารทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ความยาว 21.9 กิโลเมตร สัญญาสัมปทาน 27 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577