โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมได้อ่านผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า (Cigna) 2018 มีความน่าสนใจอยู่มาก คือ คนไทย 91% ยอมรับว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียด (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 86%) และพบสาเหตุที่คนไทยเครียดมากที่สุด คือ เรื่องการเงิน (ตามภาพ)
เพราะฉะนั้น ถามว่าคนไทยรู้ตัวหรือไม่ว่าตัวเองมีปัญหาการเงิน คนส่วนใหญ่รู้ครับ แล้วถ้าถามต่อว่า แล้วคนไทยมีการวางแผนการเงินเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการเงินที่จะเกิดหรือไม่ หลายคนอาจบอกว่ามี “ก็ฉันเก็บออมเงินทุกวันแล้วนี่” ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิดครับ การวางแผนการเงิน กับการออมเงินต่างกัน
สมมติเราออมได้เดือนละ 5000 บาท เราอาจจะมองว่าเยอะ แต่ถ้าถามให้ลึกต่อไปว่าออมเดือนละ 5000 บาท จะช่วยให้ลูกเราได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาโทที่หวังมั๊ย ช่วยให้เราสามารถมีบ้านเป็นของตนเองในอีก 5 ปีข้างหน้ามั๊ย หรือจะช่วยให้เรามีชีวิตวัยเกษียณที่มีความสุขอย่างที่เราคาดหวังมั๊ย
จะเห็นนะครับว่าการออมอย่างเดียวไม่สามารถวางแผนการเงิน การวางแผนการเงินประกอบด้วย 5 ขั้นตอนพื้นฐาน คือ
1.การสำรวจตัวเอง
2.การตั้งเป้าหมาย
3.การเขียนแผนการเงิน
4.การปฏิบัติตามแผนการเงิน
5.การทบทวนและปรับปรุงแผนการเงิน
ดูแล้วก็คล้ายๆกับการวางแผนปฏิบัติงานสำหรับกิจกรรมทั่วไป จริงๆแล้วก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ แต่ก็เช่นกัน การวางแผนการเงินก็มีลักษณะเฉพาะของมันในแต่ละขั้นตอน เช่น จะสำรวจตนเอง เราจะสำรวจยังไง ถึงรู้ว่า เรามีจุดอ่อน จุดแข็ง ในตัวเรา หรือ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบอย่างไร มีความมั่งคั่งมากน้อยแค่ไหน ความมั่นคงของรายได้เป็นอย่างไร ฯลฯ หรือ การตั้งเป้าหมายก็เช่นกัน
ผมเคยถามหลายคนว่า ตั้งเป้าหมายการเงินอย่างไร ส่วนใหญ่จะตอบว่า อยากมีเงินเท่านั้นเท่านี้ เช่น 5 ล้านบาทตอนอายุ 50 ปี เป็นต้น ครั้นเราถามต่อ 5 ล้านบาทมาจากไหน ก็บอกว่านึกๆเอา และถ้าถามต่ออีก ถ้าได้ 5 ล้านบาทจริงๆ มั่นใจแค่ไหนว่า จะมีชีวิตที่ดีอย่างที่ตนเองคิด
ดังนั้นจะเห็นนะครับว่า ปัจจุบันของตนเองก็สำคัญ ต้องวิเคราะห์ให้เป็น วิเคราะห์ให้ถูก เป้าหมายที่ต้องการก็สำคัญ ว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญสำหรับเราจริงๆ เพราะในชีวิตคนเรามีเป้าหมายที่เราอยากได้เยอะมากๆ เช่น อยากได้มือถือเครื่องใหม่ อยากเปลี่ยนรถ อยากแต่งงาน อยากมีบ้าน ฯลฯ แทบทุกเป้าหมายต้องใช้เงินหมด ถ้าเรารวยมีเงินไม่จำกัด ทุกเป้าหมายก็คงเป็นจริง แต่เนื่องจากเรามีเงินจำกัด เราคงไม่สามารถบรรลุทุกเป้าหมายได้ ดังนั้นเราก็จะต้องรู้จักวิธีการคัดเลือกเป้าหมายที่สำคัญสำหรับเราจริงๆ เพื่อเราจะได้บริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเรารู้ปัจจุบัน รู้เป้าหมายที่สำคัญที่ต้องการจริงๆแล้ว ทีนี้หล่ะครับ คือ การสร้างสะพานเชื่อมจากปัจจุบันไปสู่เป้าหมายในอนาคต การจะสร้างสะพาน ก็ต้องวางแผนครับ จะสร้างสะพานแบบไหน กว้าง ยาว เท่าไหร่ ใช้วัสดุอะไร แผนการเงินก็เหมือนกัน เราต้องวางแผนให้ได้ว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะไปสู่เป้าหมาย อย่างเช่น ถ้าต้องลงทุน ควรลงทุนเท่าไหร่ ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละชนิดเท่าไหร่ เป็นต้น และแม้เราวางแผนที่ไปถึงเป้าหมายแล้ว
คำถามถัดมา ก็คือ “มั่นใจได้อย่างไรว่า ถึงเป้าหมายแน่ๆ” เพราะการวางแผนการเงินเป็นเรื่องของการมองไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราจะบริหารความไม่แน่นอนนั้นอย่างไรดี< หลายคนเมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว อาจท้อ มองว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องยาก ผมอยากจะขอให้เรามองข้ามเรื่องยากหรือง่ายไปก่อนครับ อยากให้เรามองว่า การวางแผนการเงินเป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่ก่อนดีกว่า สำหรับผมการวางแผนการเงินเป็นจำเป็นมากๆ เมื่อเป็นเรื่องจำเป็น เราก็ค่อยมาหาวิธีการวางแผนการเงินให้ง่ายๆต่อไป