‘กลุ่มสามารถฯ” ลั่นกำไรขาขึ้นยาว-ปี 68 กอดงาน 3.6 หมื่นลบ.ลุ้นงานใหม่ 3 หมื่นล้าน

HoonSmart.com>กลุ่มสามารถฯเทกออฟมั่นใจปี 67 กำไรพร้อมปันผล ปีนี้ตั้งเป้าโกยอีก 693 ล้านบาท พุ่งขึ้นเฉียด 400% รายได้ 13,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% กอดงานในมือ 35,900 ล้านบาท คาดได้งานใหม่ 10,000 ล้านบาท มีลุ้นอีก 20,000 ล้านบาท บริษัทลูกแกร่งขึ้น กวาดงานรัฐ 80% กลับมาคว้างาน AOT รุกธุรกิจใหม่ Carbon Credits -ไฟฟ้า เล็งซื้อกิจการ พร้อมส่งเข้าตลาดหลักทรัพย์อีก 2-3 ปี

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า ปี 2568 เป็นปีแห่งการพลิกโฉมธุรกิจ สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน หลังจากปี 2567 เริ่มมีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2560 เว้นปี 2562 ที่มีกำไร 426 ล้านบาทจากรายการพิเศษ โดยบริษัทคาดว่าจะมีกำไรอย่างต่อเนื่องระยะยาว เช่น ปี 2568  จะมีกำไรสุทธิ 693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 391% จากปีที่ผ่านมา มาจากรายได้รวมจำนวน 13,491 ล้านบาท เติบโต 34% จากปีที่ผ่านมาคาดไว้ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 14,295 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 35,900 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ต้นปีได้งานใหม่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสแรกมูลค่า 4,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าได้แน่นอน 10,000 ล้านบาท และมีโอกาสได้เพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท

“กลุ่มสามารถฯปรับตัวเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ มีการรุกไปในธุรกิจใหม่และรักษาการเติบโตในธุรกิจเดิม สร้างรายได้ผ่านโมเดลธุรกิจ B2G2C มากขึ้น  โดยมีรายได้ภาครัฐสัดส่วน 20% และเอกชน  30% ด้วยการศึกษาความต้องการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาด้านการให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด  จึงเข้าไปลงทุนพัฒนาและติดตั้งระบบให้ก่อน เพื่อรับรายได้จากการให้บริการ สร้างรายได้ที่มั่นคงระยะยาว อย่างน้อย  5-10 ปี  ส่วนงานภาคเอกชน ได้เริ่มเข้าไปทำงาน AOT สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 21 เดือน โดยกลุ่มสามารถมีกลยุทธ์ในการหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ บางโครงการ เราไม่ได้ทำธุรกิจโดดเดี่ยว” นายวัฒน์ชัยกล่าว

ดังนั้นเพื่อสะท้อนการเป็นปีทองของกลุ่มสามารถในรอบ 10 ปี จึงกำหนด Year Theme หรือจุดมุ่งเน้นทางธุริจในปีนี้ว่า “ปีแห่งการพลิกโฉมธุรกิจ สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน” หรือ Year of Reinvention โดยจะใช้ Diversity & Unity เป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับเปลี่ยน เสริมแกร่ง และสร้างโอกาสสู่ความยั่งยืน Unity เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วน Diversity คือการสร้างพอร์ตในหลากหลายธุรกิจ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงและสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ประจำ 25%

นายวัฒน์ชัยกล่าวว่า กลุ่มสามารถฯจะไม่กลับไปขาดทุนอีกแล้ว บริษัทสามารถเทลคอม สายธุรกิจ Digital ICT Solutions ตั้งเป้ารายได้จำนวน 6,500 ล้านบาท มั่นใจจะโตไม่ต่ำกว่า 40%  ปัจจุบันมีงานในมือแล้วมูลค่ากว่า 5,500 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปีต่อ ๆไป  ด้วยโอกาสจากหลายโครงการที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ประกอบกับโครงการใหม่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ จากภาครัฐ รวมถึงนโยบายบูรณาการด้านเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดการให้บริการด้านต่าง ๆ คาดว่า จะมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเข้าร่วมประมูล ทั้งโครงการรูปแบบ Outsource Services ขนาดใหญ่หลักหมื่นล้านบาท

ส่วนบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่น (SAV) สายธุรกิจ Utilities & Transportations  ตั้งเป้ารายได้ที่ 6,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9 % ด้วยโอกาสทางธุรกิจหลายด้าน โดยเฉพาะธุรกิจให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 8% จากธุรกิจการบินเริ่มขยายตัวเต็มที่หลังวิกฤตโควิด รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยช่วงปลายปี 2567 ได้มีการเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ดาราสาคร ที่เกาะกง และภายในปีนี้จะมีการเปิดสนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ คาดว่าปีนี้จำนวนผู้โดยสารอาจมีมากถึง 7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเที่ยวบินโดยรวมเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1 แสนเที่ยวบิน ซึ่งจะส่งผลให้ SAV มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่เป็นบวกอย่างโดดเด่นในปีนี้

“โครงการ SAV ที่ลาวเซ็น MOU แล้ว รอรัฐบาลลาวนัดไปเซ็นสัญญาคาดว่าคงอีกไม่นาน  สิ้นเดือนนี้ผมจะบินเข้าลาว น่าจะมีความคืบหน้า เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคง  ส่วนบริษัทวิทยุการบินคาดว่าในไทย ก็ได้งานมาแล้ว คาดว่าจะได้งานอีก 1,000 ล้านยาท ตรวจวัตถุบนลาดบิน ”

สำหรับธุรกิจด้าน Power Construction & Services โดยบริษัทเทด้าและทรานเส็ค มีงานในมือปัจจุบันรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ยังมีแผนรุกเข้าสู่การให้บริการ upgrade สถานีไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็น Digital Substation ด้วย โดยมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆในปีนี้กว่า 3,000 ล้านบาท

ด้านโครงการ Direct Coding ปัจจุบันยังเหลือสัญญาอีก 5 ปี เฉลี่ยรายได้ปีละกว่า 1,000 บาท ซึ่งบริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานธุรกิจบริการระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding ไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่นๆ อาทิ ยา อาหารเสริม น้ำมัน และ Soft Drink อีกด้วย

“เรามีแผนใหญ่ จะขยายธุรกิจพลังงานที่อยู่ในบริษัทเทด้า กำลังปั้นธุรกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม รับเทรนด์ของโลกและภาคธุรกิจให้ความใส่ใจกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยกำลังศึกษาเกี่ยวกับ Carbon Credits  กำลังดูธุรกิจหลายตัว เช่นการซื้อกิจการ ตั้งเป้าหมายปี2569-2570 จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์”นายวัฒน์ชัยกล่าว

สายธุรกิจ Digital Communications นำโดย บริษัทสามารถดิจิตอล ตั้งเป้ารายได้ปี2568ที่ 1,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 50% และจะเป็นปีแรกในรอบ 10 ปีที่ SDC จะหยุดการขาดทุน และกลับมามีกำไร จากการวางรากฐานทางธุรกิจที่เริ่มแข็งแรง เพื่อโอกาสสร้างรายได้ประจำให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อไป โดยเฉพาะโครงการ DTRS มีการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุลูกข่ายและค่าใช้บริการ Air Time ประมาณ 800 ล้านบาท และพุ่งเป้าขยายจำนวนผู้ใช้บริการไปยังหน่วยงานผู้ให้บริการประชาชน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การปกครองส่วนท้องถิ่น, บรรเทาสาธารณภัย และการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะมีผู้ใช้บริการ 9 หมื่นรายในปีนี้ และ 1.2 แสนราย ในปี 2569 ส่วนธุรกิจสายมูโดยบริษัทลัคกี้เฮงเฮง นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้กับศาสตร์สายมูเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล โดยการนำเสนอบริการ AI Horo ผ่านทางพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ดีๆ ใหม่ๆ ของสายมู รวมถึงการรุกตลาดธุรกิจของบริการทำบุญของ Thai Merit อีกด้วย

นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ในปี 2567ที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานยังอยู่ในระดับที่ดี คาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 13,500 ล้านบาท และมีผลกำไรเป็นที่น่าพึงพอใจ ส่วนปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดของกลุ่มสามารถในรอบ 10 ปี  และจะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2569