THG แจงสาเหตุตั้งค่าเผื่อฯพุ่ง 343% ยันเดินหน้า”จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้”

HoonSmart.com>>บอร์ด”ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” (THG) ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ งบไตรมาส 3/67 ตั้งค่าเผื่อฯรวม 336 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 343% จากปีก่อน มาจาก 3 กลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโควิดของบริษัทในเครือ ได้รับผลกระทบรัฐจ่ายหนี้ค่ารักษาล่าช้า ส่วนหุ้นกู้ของ THG ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงิน ต้องจ่ายค่าปรับให้ผู้ค้ำประกันสูง อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอ ส่วนโครงการ”จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้”ยังคงเปิดขายตามปกติ ยัน’หมอบุญ วนาสิน’ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง  

บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับงบการเงินรวมงวดไตรมาส 3/2567  และโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 ได้พิจารณาข้อสอบถามเพิ่มเติมของตลาดหลักทรัพย์และขอชี้แจงดังนี้

1. การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากการดำเนินงาน รวม 336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 343% เมื่อเทียบกับงบการเงินรวมปี 2566   สาเหตุมาจากกลุ่มลูกหนี้ค่าเผื่อฯ 3 กลุ่มใหญ่

1.1 กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 ของบริษัทและบริษัทย่อย คือ บริษัทโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง (THB) บริษัท โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี บริษัท ตรังเวชกิจ และบริษัท ธนบุรีเวลบีอิ้ง ซึ่งรับรู้ค่าเผื่อฯในไตรมาส 3 รวม 284 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาเกี่ยวกับการได้รับชำระเงินจากหน่วยงานภาครัฐในส่วนของการเบิกจ่ายจากการรักษาช่วงโควิด-19 ระบาด โดยในปี 2564-2566 บริษัทและบริษัทย่อย โดยเฉพาะ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง รับรู้รายได้จากการให้บริการผู้ป่วยในช่วงโควิด-19 และมีการประมาณการส่วนลดเพื่อสะท้อนจำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับชำระ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและอัตราที่ได้รับชำระจริงในอดีต โดยใช้อัตราส่วนที่คาดว่าจะได้รับชำระช่วงระหว่าง 29-60% ซึ่งเป็นไปตามหลักความระมัดระวัง และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป

ในปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ รับรู้รายได้โดยรับรู้ประมาณการส่วนลด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและอัตราส่วนลดที่เกิดขึ้นจริงแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 มีสถานะค้างชำระนานเกินกว่า 365 วัน และการชำระหนี้จากหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนในอนาคต บริษัทและบริษัทย่อยจึงตั้งค่าเผื่อฯ 75% ของมูลหนี้คงเหลือ แต่หากภายในสิ้นปี 2567 ยังไม่ได้รับการชำระหนี้คืนจากหน่วยงานภาครัฐก็จะตั้งค่าเผื่อฯ เพิ่มเป็น 100% ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท

1.2 ลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองโดยไม่ผ่านบุคคลที่สาม เช่น บริษัทประกันสุขภาพ (ลูกหนี้ Self-pay)

ในปี 2566 บริษัทย่อย คือ THB ได้บันทึกบัญชีลูกหนี้คงค้างกลุ่มนี้เป็นจำนวนเงินรวม 42 ล้านบาท แต่ภายหลังจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีอย่างละเอียดในไตรมาส 3/2567 พิจารณาแล้วว่ารายการนี้มีความเสี่ยงสูงที่อาจไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เพื่อให้การบันทึกบัญชีสะท้อนถึงสภาพการณ์ที่แท้จริง และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จึงตัดสินใจตั้งค่าเผื่อฯ ไว้เต็มจำนวน

1.3 ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น ในไตรมาส 3/2567 บริษัท ตรังเวชกิจ ตั้งค่าเผื่อฯ 1 ล้านบาทสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งค้างชำระนานเกินกว่า 180 วัน และในช่วงเวลาเดียวกัน THB ตั้งค่าเผื่อฯ 10 ล้านบาท สำหรับรายการลูกหนี้อื่น โดยบริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้และถือเป็นรายการอันควรสงสัย

การตั้งค่าเผื่อฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีค่าเผื่อฯ) ไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานแต่อย่างใด และได้มีการหารือร่วมกับผู้สอบบัญชีเป็นประจำทุกปีโดยยึดหลักความระมัดระวังที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง

2. รายการกับ Bewell Saigon Health Clinic Company Limited ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าทำข้อตกลงร่วมทุนกับ IFF Holdings Joint Stock Company เพื่อจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง โดย IFF Holdings Joint Stock Company จะถือหุ้นไม่เกิน 60% และ THG ถือหุ้น 40% (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งบริษัทโฮลดิ้งจะถือหุ้น 100% ใน Bewell ที่ตั้งขึ้นในเวียดนามเพื่อดำเนินธุรกิจคลินิกตรวจสุขภาพเชิงลึก

ในปี 2566 และ 2567 THG ได้ให้เงินกู้ยืมแก่ Bewell เพื่อใช้ตกแต่งสถานที่ ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือและการเช่าพื้นที่ตั้งคลินิกระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ย 5% ต่อปี ณ ปัจจุบัน Bewell มีภาระหนี้คงค้าง 49 ล้านบาท ขณะที่ผู้รวมทุน IFF ให้กู้แก่ Bewell เช่นกันประมาณ 12.5 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุนในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การจัดหาสถานที่การบริหารและควบคุมกระบวนการก่อสร้าง ตลอดจนการจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับเงินกู้บางส่วนที่บริษัทฯ ได้ให้แก่ Bewell ประมาณ 12.6 ล้านบาท ครบกำหนดชำระแล้ว บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาแปลงหนี้เป็นเงินลงทุนในบริษัทโฮลดิ้ง และ/หรือ Bewell โดยมีกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2568 และคาดว่า Bewell จะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1/2568 เช่นกัน

3. รายการเกี่ยวกับหุ้นกู้ของ THG จากผลดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามคาดการณ์รวมถึงรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ทำไว้กับ Credit Guarantee and Investment Facility, a trust fund of the Asian Development Bank (CGIF) ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้หุ้นกู้ของบริษัท ฯ อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหุ้นกู้สามารถเพิกถอนการค้าประกันได้และไม่มีผลทำให้บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด แต่ทำให้บริษัทฯ มีภาระต้องชำระค่าปรับให้แก่ CGIF ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการหารือกับ CGIF เพื่อขอผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการในสัญญา คาดว่าจะได้รับข้อสรุปดังกล่าวภายในไตรมาส 1/2568

4. รายการเกี่ยวกับโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้
สถานะและความคืบหน้าของการขายโครงการ บริษัท ธนบุรีเวลบีอิ้ง ยังคงดำเนินการขายโครงการตามปกติ ซึ่งโครงการมีจำนวน 494 ห้อง ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 มีจำนวนห้องที่ยังไม่ได้ขาย 234 ห้อง โดยธนบุรีเวลบีอิ้ง ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างสม่ำเสมอ และในเดือน ธ.ค.นี้ เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 3 ห้อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ธนบุรีเวลบีอิ้ง ได้รับผลกระทบจากข่าวต่าง ๆ ในทางลบ ทำให้ลูกค้ายกเลิกการซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุด 2 ห้อง และขายกรรมสิทธิ์ ห้องชุดสำเร็จเพียง 1 ห้อง

ที่ดินที่ธนบุรีเวลบีอิ้ง จัดสรรไว้สำหรับพัฒนาโครงการเฟส 2 และ 3 ในอนาคต ขนาด 28,469.44 ตร.ว. มูลค่าต้นทุน 840.39 ล้านบาท เดิมจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์หมุนเวียน แต่หลังจากการประเมินแล้วเห็นว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะยังไม่เริ่มต้นก่อสร้างในช่วง 1 ปีข้างหน้า จึงปรับปรุงการจัดประเภทของที่ดิน เป็น สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

ส่วนการขายห้องชุดของโครงการให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้น ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 ธนบุรีเวลบีอิ้ง มีรายได้รอรับรู้จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการขายห้องชุดแบบตกแต่งครบ (Fully Furnished) ให้กับ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) ได้รวมค่าเฟอร์นิเจอร์ไว้ด้วย แต่การติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ยังไม่แล้วเสร็จ ธนบุรีเวลบีอิ้งจึงยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในส่วนค่าเฟอร์นิเจอร์ตามมาตรฐานบัญชี ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ขอยกเลิกการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์และธนบุรีเวลบีอิ้งได้หักกลบลบหนี้ค้างรับและค้างจ่ายเสร็จสิ้นในเดือน พ.ย.2567 ส่งผลให้ยอดรายได้รอการรับรู้ 20 ล้านบาทไม่ถือเป็นหนี้สินทางบัญชีอีกต่อไป

คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเน้นย้ำให้สาธารณชนรับทราบว่านายแพทย์บุญ วนาสิน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการดังกล่าว เป็นการลงทุนโดยธนบุรีเวลบีอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นเกือบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน และโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ยังคงดำเนินการตามปกติ ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการที่โปร่งใส และมุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 
 
———————————————————————————————————————————————————–