ความจริงความคิด : ความเสี่ยงทางการเงินปี 2568

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ปี 2567 กำลังจะผ่านไป รู้สึกว่าเร็วมาก ทั้งที่จริงหลายคนบอกว่า “หากเรามีความสุข เวลาจะผ่านไปเร็ว” แต่มานึกดูปีนี้ก็ไม่ได้มีความสุขอะไรนักหนา แถมน่าจะทุกข์ซะมากกว่า เพราะภาวะเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ได้ดี หนี้ครัวเรือนก็สูงมาก หนี้เสียก็เยอะ คนตกงานก็เพียบ การเมืองในประเทศแม้ว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่การเมืองระดับโลก ภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง

เมื่อปีนี้ ความเสี่ยงมีเยอะ ในปี 2568 เราจึงควรบริหารจัดการเงินด้วยความระมัดระวัง โดยความเสี่ยงทางการเงินที่ควรระวังอาจเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน โดยตัวอย่างความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่

1. ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (เช่น สงครามหรือข้อพิพาทระหว่างประเทศ) ไม่ว่าจะเป็นสงครามจริงๆระหว่าง รัสเซียกับยูเครน หรือ อิสราเอล-ฮามาส หรือสงครามเศรษฐกิจ ระหว่างจีน กับ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน หรือยุโรป
การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศสำคัญ (เช่น การปรับลดดอกเบี้ย)

2. ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินที่ผันผวนส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะหากพึ่งพิงวัตถุดิบหรือสินค้าจากต่างประเทศ

3. ปัญหาหนี้สิน

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 90% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่เกือบ 2 เท่า อีกทั้งยังเกินระดับ 80% ซึ่งเป็นระดับที่ BIS ระบุว่า “น่ากังวล”

ทั้งนี้ จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าหนี้ต่อครัวเรือนในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 8.4% ไปอยู่ที่ 606,378 บาทต่อครัวเรือน และหากนับรวมหนี้นอกระบบอาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนทั้งหมดสูงกว่ามูลค่าของ GDP

และข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจจากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคลอันเป็นฐานข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) จำนวนบัญชีเฉลี่ย 1.7-1.8 ล้านบัญชีต่อไตรมาส ด้วยข้อมูลจนถึงไตรมาส 2/2567 พบ 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. คุณภาพของหนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด-19

2. ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง

3. สถาบันการเงินทุกประเภทต่างก็เผชิญผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น

4. เมื่อเจาะกลุ่มปัญหาเรื้อรังพบว่า ระดับความรุนแรงของปัญหาหนักกว่าพอร์ตสินเชื่อธุรกิจโดยรวม และปัญหาหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น

5. ประเภทธุรกิจที่เผชิญปัญหาคุณภาพหนี้ คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่พักและอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปมปัญหา ที่เกิดขึ้นจากโจทย์เฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข

4. อัตราเงินเฟ้อและค่าค่าครองชีพสูง

แม้เงินเฟ้ออาจลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อในสินค้าหรือบริการบางอย่างยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และมีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นตามโครงสร้างประชากรไทยที่เป็นสังคมคนสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ข้อมูลล่าสุด อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 12% หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้นเท่าตัวทุก 6 ปี ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น

5. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

การโจมตีทางไซเบอร์หรือการรั่วไหลของข้อมูล (Cybersecurity Risks) การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจดั้งเดิม ผลกระทบที่เราเห็นได้ชัดในปีนี้ ก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ถูกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาตีตลาด ไม่เพียงส่งผลกระทบให้โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งต้องปิดกิจการ ตลาดรถมือสอง สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องตกงานจากการถูกเลิกจ้าง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

6. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำท่วมหรือไฟป่า ปีนี้เราเจอน้ำท่วมทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งข้อมูลที่บอกๆกัน ก็คือ น้ำท่วมปีนี้ เร็ว แรง เกิดซ้ำ ทำให้ผลกระทบหนักกว่าปีก่อนๆ และไม่เพียงน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยที่เรามองเห็น แต่ฝุ่น PM2.5 ก็ยังเป็นภัยที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

และเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ก็มีข่าวไวรัสตัวใหม่ ไรโนไวรัสระบาดซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นภัยธรรมชาติหรือภัยที่มนุษย์สร้างอย่าง Covid19 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก ยังไงๆก็ระมัดระวัง ดูแลสุขภาพตัวเองกันไว้ก็ดี อย่างที่อาจารย์หมอท่านหนึ่งบอกเอาไว้ “สุขภาพดี เราจะได้ทุกอย่าง สุขภาพแย่ เราจะเสียทุกอย่าง” เป็นอย่างนั้นจริงๆ

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดอาจเพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

7. ความเสี่ยงด้านตลาดการเงินและการลงทุน

การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นหรือคริปโตเคอร์เรนซี ตราสารหนี้ ฯลฯ ปีนี้เป็นปีที่สอนเราว่า ลำพังดูพื้นฐาน ดูเทคนิค ติดตามข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุนไม่เพียงพอแล้ว เพราะทุกวันนี้ไม่เพียงมิจฉาชีพที่เราพบเจอทุกวัน โทรมาบ้าง ส่งข้อความมาบ้าง ทัก Line ทัก facebook มาบ้าง ยังมีมิจฉาชีพที่มาในคราบบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือสูง เป็นหมอ ทนาย บุคคลที่มีชื่อเสียง มีความรู้สูง ฯลฯ ทำให้ยิ่งต้องระมัดระวังในการบริหารจัดการเงินมากขึ้น

การเตรียมตัวรับมือ
กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง (Diversification)
ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด
วางแผนการเงินส่วนบุคคลและธุรกิจอย่างรอบคอบ รวมถึงสร้างเงินสำรองฉุกเฉิน
สำหรับคนที่คิดจะเป็นหนี้ ลองหาทางเลือกอื่น เพราะรายได้มีความไม่แน่นอนสูง หรือคนที่เป็นหนี้ การพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้และลดการพึ่งพาหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยติดตามนโยบายต่างๆ อย่างเช่น “คุณสู้ เราช่วย” โดยความร่วมมือกระทรวงการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มุ่งลดภาระทางการเงินให้แก่ “ลูกหนี้” ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ ให้สามารถประคองตัว รักษาสภาพคล่องและสินทรัพย์สำคัญ ผ่านแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่องวด

การตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้และการเตรียมพร้อมจะช่วยลดผลกระทบและเพิ่มโอกาสในการปรับตัวในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในอนาคต.

 
 
———————————————————————————————————————————————————–