ความจริงความคิด : เก็บเหรียญบาทตัดหน้ารถสิบล้อ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจขายตรงในวันนี้จนทำให้คนดังในวงการบันเทิงหลายคนต้องหมดอาชีพ (อาจถึงกับหมดอนาคตไปเลยก็ได้) ทำให้นึกถึงสำนวนของนักเล่นหุ้นสำนวนหนึ่ง ก็คือ “เก็บเหรียญบาทตัดหน้ารถสิบล้อ”

“เก็บเหรียญบาทตัดหน้ารถสิบล้อ” เป็นการกระทำที่เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์หรือโชคลางที่บางคนทำเพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมโชคลาภหรือป้องกันภัย โดยการวางเหรียญบาทหรือเหรียญอื่น ๆ ไว้บนถนนให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ (เช่น รถสิบล้อ) ขับทับเหรียญนั้น หลังจากนั้นผู้ที่วางเหรียญจะเก็บเหรียญขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าเหรียญนั้นจะมีพลังพิเศษหรือกลายเป็น “เหรียญนำโชค” ในการป้องกันอันตรายหรือเสริมดวง

อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้ถือว่าอันตราย เพราะการไปตัดหน้ารถบรรทุกอาจเกิดอุบัติเหตุได้ และยังผิดกฎหมายจราจรในบางกรณี

หากเทียบกับการลงทุน ทุกการลงทุนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงดังประโยคภาษาอังกฤษพูดกันว่า

“High risk, High return” ที่หลายคนแปลความหมายผิดว่า “ถ้าเรายอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เราก็จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น”

จึงทำให้หลายคน “เลือกที่จะรับความเสี่ยงที่สูง เพราะเข้าใจว่าจะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น” เหมือนอย่างกรณีของเหยื่อผู้หลงเชื่อไปเป็นสมาชิกของธุรกิจขายตรงตามที่เป็นข่าว หลายคนลงทุนหลักแสน หลักล้าน เพื่อหวังว่าตนเองจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวย เป็นทรัพย์สินเงินทองเป็นร้อยล้านพันล้านตามฝันที่ขาย ตามแม่ข่ายที่โชว์รวยให้ดู แต่ความจริงกลับปรากฏว่า “ประสบปัญหาขาดทุน” หลายคนถึงกลับคิดที่จะจบชีวิตตนเองหนีความทุกข์ ความหมายที่แท้จริงของ “High risk, High return” คือ “หากต้องการโอกาสของผลตอบแทนที่สูงขึ้น คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน”

ดังนั้นนักลงทุนที่ดีก็จะพิจารณาว่าโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนนั้นว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องรับหรือไม่ ด้วยการพิจารณาโอกาสที่จะได้รับกำไรเทียบกับโอกาสที่จะขาดทุน ( Win/loss ratio) และเทียบขนาดของกำไรที่คาดว่าจะได้กับขนาดของการขาดทุนที่คาดว่าจะต้องเสียหากการลงทุนนั้นพลาดไม่เป็นไปตามที่คิด (Return/Risk ratio)

เราคงเดากันไม่ยากนะครับว่า นักลงทุนที่ดีเลือกจะลงทุนในกรณี
 

“โอกาสกำไร มากกว่า โอกาสขาดทุน” และมี “ขนาดกำไร มากกว่า ขนาดขาดทุน”

การเก็บเหรียญผ่าตัดหน้ารถสิบล้อผลตอบแทนที่ได้คือเหรียญบาทแต่ความเสี่ยงก็คือการถูกรถสิบล้อชน หากพิจารณาเพียงเท่านี้ก็สามารถตัดสินใจได้ไม่ยากว่าไม่ควรไปเก็บเหรียญบาทเหรียญนั้น เพราะมันคือ

การลงทุนที่มี “โอกาสกำไร น้อยกว่า โอกาสขาดทุน” และมี “ขนาดกำไร น้อยกว่า ขนาดขาดทุน” ซึ่งเป็นการลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยง แต่ในชีวิตจริง หลายๆครั้ง เราก็ตัดสินใจที่จะเลือกรับความผลตอบแทนที่ไม่เยอะ โดยมองข้ามหรือยอมรับความเสี่ยงที่มากนั้นเช่นกัน

ยกตัวอย่าง กรณีดาราผู้มีชื่อเสียงในข่าวธุรกิจขายตรงที่ตัดสินใจเลือกรับงานโดยได้รับผลตอบแทนที่คาดว่าจะดีระดับหนึ่ง โดยมองข้ามความเสี่ยงของธุรกิจหรือสินค้าที่ตนเองเป็น presenter ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีปัญหาเหมือนกรณีนี้ หรือ สินค้าไม่ได้มาตรฐานอย่างหลายๆกรณีที่เคยเป็นข่าว สุดท้ายเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ความเสียหายที่ได้รับไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่ได้รับเลย

เรื่องที่เกิดขึ้นกับดาราในกรณีนี้ ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดี ในชีวิตจริง เรามักจะเจอเหตุการณ์ที่ต้องเลือกเสมอว่า “จะทำ” หรือ “ไม่ทำ” โดยเฉพาะในหลายกรณีที่พบเจอ ก็คือ “การเลือกที่จะทำผิดทั้งด้านกฎหมายหรือศีลธรรม” เพื่อต้องการ “ผลตอบแทน” ที่ไม่ควรได้ สุดท้ายสิ่งที่สูญเสียมันมากกว่าที่ได้เยอะมาก

ผมเองทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตมาตลอด ได้พบเจอกรณีศึกษามากมาย ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันที่หาเหตุไม่จ่ายสินไหมให้ผู้เอาประกัน สุดท้ายสิ่งที่เสียไป คือ ชื่อเสียง ความไว้วางใจ ทำให้ตัวแทนไม่กล้าที่จะเสนอประกันของบริษัทให้กับลูกค้ารายอื่นอีก ลูกค้าก็ไม่วางใจที่จะซื้อประกันของบริษัทนี้อีกต่อไป ไม่เพียงเท่านั้นยังบอกต่อ เตือนคนรู้จักให้หลีกเลี่ยงอย่าซื้อประกันกับบริษัทนี้ด้วย

หรืออย่างกรณี ตัวแทนบางคนที่ทุจริต นำเงินลูกค้ามาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว สุดท้ายถูกบริษัทไล่ออก บางคนถึงกับติดคุกมหมดสิ้นอนาคตไปเลย

หรืออย่างกรณีที่พบเห็นง่ายๆ และบ่อยที่สุด จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่แย่มาก ก็คือ “การยืมเงินเพื่อน แล้วไม่คืน” สิ่งที่ได้ก็แค่เงินที่ยืม สิ่งที่เสียคือ

• เพื่อนที่ดี ที่พร้อมจะช่วยเหลือยามเรามีปัญหา
• แหล่งเงินกู้ที่ปลอดดอกเบี้ย
• ชื่อเสียง ความไว้วางใจ หรือที่เรียกว่า “เครดิต”

ทุกพฤติกรรมมีผลลัพธ์ และ มีความเสี่ยงเสมอ ก่อนทำอะไร มีสติคิดไตร่ตรองก่อนนะว่า เรากำลังจะ “เก็บเหรียญบาทตัดหน้ารถสิบล้อ” หรือไม่?