หลังจากเก็บเนื้อเก็บตัว เน้นให้บริการลูกค้ารายใหญ่มาสักพักใหญ่ ศุภกร สุนทรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอเชีย เวลท์ บอกว่าตอนนี้พร้อมแล้วที่จะให้บริการลูกค้ารายย่อย ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และระบบการคัดเลือกกองทุนในแบบเดียวกับที่ลูกค้ารายใหญ่ได้รับ
บลจ.เอเชีย เวลท์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 จากการแยกส่วนงานบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ออกมาจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ เพราะการให้บริการที่แตกต่างกันกับธุรกิจโบรกเกอร์ โดยให้บริการบริหารกองทุนส่วนบุคคล และตัวแทนขายหน่วยลงทุน ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “บลจ.ที่ไม่ทำกองทุนรวม”
“เราเลือกที่จะไม่เป็นผู้ผลิต (กองทุนรวม) แต่จะเป็นผู้จัดจำหน่ายและผู้ให้คำแนะนำ เพราะถ้าเป็นตัวแทนขายกองทุนรวมแล้วยังทำกองทุนของเราเองจะขัดแย้งกัน และถ้าเราทำกองทุนเอง เราจะตอบตัวเองไม่ได้ว่ามันต่างอะไรกับกองทุนของ บลจ.อื่นที่เราขายอยู่” ศุภกร กล่าว
เมื่อเลือกที่จะ “ขายกองทุน” ก็ต้องทำให้ดีที่สุด
เพราะในปัจจุบันมีประเทศไทยมี บลจ. อยู่ 26 แห่ง และมีกองทุนมากกว่า 1,500 กองทุน (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2561 มีกองทุนรวม 1,578 กองทุน เฉพาะกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก็มีมากถึง 89 กองทุน
“ลูกค้าสับสนว่า กองทุนไหนดีกว่ากัน เพราะฉะนั้นคุณค่าที่เราเป็นตัวแทนขาย นอกจากจะสามารถเปิดบัญชีที่เดียวสามารถซื้อกองทุนได้จาก 18 บลจ. แล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการทำวิจัย การคัดเลือกกองทุนด้วยวิธีการของเราเอง” ศุภกร กล่าว
ศุภกร เปิดเผยว่า บลจ.เอเชีย เวลท์ ใช้เวลา 1 ปีแรกในการเก็บข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล และออกแบบระบบการคัดเลือกกองทุนที่มั่นใจว่า เหมาะกับประเทศไทยมากกว่า
“กองทุนไทย ไม่เหมือนกองทุนต่างประเทศที่การบริหารจัดการกองทุนมีระบบและสไตล์ที่ชัดเจน ขณะที่กองทุนยังอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้จัดการกองทุน และที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 3 ปี
รวมถึงการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงทั้ง CEO และ CIO ต่างมีผลกระทบต่อการบริหารกองทุน ผลดำเนินงานของกองทุนทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะ บลจ.ไทย ยังไม่มีความเด่นชัดเรื่องนโยบายการลงทุน” ศุภกร กล่าว
นอกจากนี้ ศุภกร กล่าวว่า สำหรับกองทุนไทยการประมินผลงานโดยพิจารณาจากผลดำเนินงานระยะยาวอย่างเดียวยังไม่ได้เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะตลาดหุ้นไทยมีขนาดไม่ใหญ่ และมีความผันผวนสูง เช่น ดังนั้นจึงต้องประเมินผลงานระยะสั้น ประกอบด้วยผลดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน และ 1 ปีประกอบกันด้วย
และเพื่อเจาะลึกลงไปอีก บลจ.เอเชีย เวลท์ จึงต้องจัดประเภทกองทุนใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการจัดประเภทของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)
“เราต้องแยกประเภทย่อยๆ ต้องทำฐานข้อมูลใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสมาคมฯ เช่น กองทุน FIF นอกจากแยกประเทศ แยกกลุ่มหุ้น แล้วยังแยกประเภทลงไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งยากมากในช่วงปีแรกที่จัดทำฐานข้อมูล”
แต่ฐานข้อมูลยังไม่ยากเท่ากับ แนวคิดในการตัดเลือกกองทุนที่ชอบ เพราะ ศุภกร บอกว่า “เราไม่ได้ชอบกองทุนที่เก่งที่สุด แต่มีความเหวี่ยงสูง ไม่สม่ำเสมอ แต่เราชอบกองทุนที่ไม่ต้องเก่งมาก เช่น อาจจะได้ที่ 7 ที่ 8 แต่มีความสม่ำเสมอ แต่ถ้าได้ที่ 1-2-3 ติดต่อกันจะเพอร์เฟค”
อย่างไรก็ตาม ศุภกร เปิดเผยกองทุนหุ้นไทย โดยเฉพาะ LTF ไม่มีกองทุนไหนที่เก่งอย่างสม่ำเสมอ
“เราไม่ชอบกองทุนที่มีผลงานเหวี่ยงๆ แต่ก็ไม่มีทางเลือกมาก เพราะฉะนั้นต้องมีหลายตัว และต้องถอนตัวได้เร็วถ้าภาวะตลาดเปลี่ยน เพราะบางปีหุ้นขนาดเล็กดี บางปีหุ้นขนาดใหญ่ดี เช่น ปีนี้ช่วงต้นปีหุ้นปันผลมา เพราะฉะนั้นถ้าจะลงทุนต้องถอนตัวเร็ว”
เพราะฉะนั้น นอกจากการคัดเลือกกองทุนที่ดีให้กับลูกค้าแล้ว กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดในแต่ละช่วงก็สำคัญไม่แพ้กัน
“กลยุทธ์ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วลงทุนง่ายใส่เงินลงไปตรงไหนก็กำไร แต่ปีนี้ยาก เราจึงแนะนำนักลงทุนให้ใช้กลยุทธ์ Hit and Run ต้องไว และไม่โลภ อย่าตั้งเป้ากำไรสูง เช่น 10% เพราะเป็นไปได้ยาก แต่ให้ตั้งเป้าแค่ 3% ได้กำไรตามเป้าหมายแล้วต้องออก โดยอาจจะออกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่ง let profit run ไปเรื่อยๆ พอผงกหัวลงก็ออกหมด แต่ต้องไวขึ้น”
ศุภกร ยังแนะนำอีกว่า “เงินส่วนใหญ่ หรือ พอร์ตหลักของนักลงทุนยังอยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่เสี่ยงมาก เช่น อยู่ในกองทุนอสังหาริมทรพย์ แต่เป็นการแบ่งเงินมาซื้อขายระยะสั้นส่วนหนึ่ง เพราะเป็นหนทางเดียวที่มีโอกาสสร้างกำไรในสถานการณ์ปัจจุบัน”
หลังจากให้บริการลูกค้ารายใหญ่ (High Net Worth : HNW) ที่มีสินทรัพย์รวมประมาณ 30 ล้านบาท ศุภกร กล่าวว่า วันนี้ บลจ.เอเชีย เวลท์ พร้อมแล้วที่จะให้บริการนักลงทุนรายย่อย โดยมีจุดขายเดียวกัน คือ “การให้คำแนะนำ และการคัดเลือกกองทุน”
“ปัจจุบัน เราโตจาก One on one ใช้เจ้าหน้าที่การตลาด 1 คนบริการลูกค้า 1 คน แต่การเข้ามาของ Fintech จะทำให้การบริการลูกค้าเดิมขอเราดีขึ้น โดยเราเตรียมตัวที่จะนำ Fintech มาใช้ 2 เรื่อง คือ การสื่อสารข้อมูล กับ ความง่ายในการซื้อขาย”
“ที่ผ่านมาไม่มีการสื่อสารผ่าน Social Media เลย แต่ปลายปีนี้จะเริ่มมีการสื่อสารผ่าน Social Media และพัฒนาระบบนำฐานข้อมูลและการคัดเลือกกองทุนให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น จากปัจจุบันที่จะใช้คนมาคัดกรองอีกรอบหนึ่ง”
ศุภกร บอกว่า จะเน้นกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน อายุ 30 ปี ที่เริ่มทำงานมาสักระยะหนึ่ง
“คนทำงานไปสักพักจะเริ่มมีเงินลงทุน ขณะที่คนเริ่มทำงานใหม่ๆ ส่วนใหญ่ยังเริงร่าอยู่ เห็นความสำคัญของการบริหารเงินน้อยมาก ซึ่งผมเชียร์ให้บริหารเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน แม้จะมีนิดนึงก็ควรจะบริหาร แต่ก็ยอมรับว่ายาก แต่พออายุ 30 ปี ทำงานมาสักระยะหนึ่ง เริ่มอยากจะมีคอนโดต้องมีการออม มีการบริหารเงิน”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรุกลูกค้ารายย่อยมากขึ้น แต่ ศุภกร บอกว่า ยังรักษากลุ่มลูกค้า HMW ที่มีประมาณ 1,000 คนเอาไว้ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 2,000 คน
“เรามีมาร์เก็ตติงประมาณ 30-40 คน และมาร์เก็ตติ้ง 1 คน ไม่ควรดูแลลูกค้าเกิน 80 คน ไม่อย่างนั้นจะดูแลไม่ไหว เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยังต้องการที่จะพูดคุยกับมาร์เก็ตติ้ง และการลงทุนด้วยเงินจำนวนมากลูกค้าจะไม่นิยมลงทุนด้วย Fintech ยังต้องการเซ็นเอกสารต่อหน้า เพราะเงินเป็นสิบล้าน”
แต่ ศุภกร เชื่อว่า สถานการณ์จะเปลี่ยนไปเมื่อลูกค้าให้ลูกหลานเข้ามาดูแลเงินให้ เพราะ “คนรุ่นใหม่ไม่อยากคุยกับมาร์เก็ตติง” ซึ่งอเมริกาเริ่มเจอปัญหานี้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
“พอให้ลูกหลานมาดูแล มาร์เก็ตติงรุ่นเก่าเข้ากับลูกค้ารุ่นใหม่ไม่ได้เลย พูดกันคนละภาษา ปัจจุบันมาร์เก็ตติงของเราอายุ 30-40 ปี ก็อาจจะต้องเพิ่มรุ่นอายุ 20-30 ปี เข้ามา เพื่อเตรียมรองรับลูกค้ารุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน โดยต้องเตรียมความรู้ให้เก่งเท่ากับมาร์เก็ตติงรุ่นเก่า แต่ต้องมีความรู้ทางการเงินยุคใหม่เข้าไปด้วย เช่น ความรู้เกี่ยวกับ Cryptocurrency และการตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น”
อีกหนึ่งความตั้งใจของ ศุภกร คือ การเป็น Open Architecture สำหรับบริการบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าที่มีพอร์ตกับบริษัทหลักทรัพย์อื่น
“เชื่อว่า HNW ทุกคนมีบัญชีหุ้น แต่อาจจะไม่ Active ไม่ได้บริหารจัดการ เราอยากจะเข้าไปช่วยรีวิวหุ้นในพอร์ต ซึ่งอาจจะเปิดอยู่กับ บล.อื่น ว่า ความเสี่ยงเหมาะสมหรือไม่ เราเข้าไปช่วยทำ Asset Allocation หน้าที่ของเรา คือ เข้าไปดูว่าเงิน 100 บาทของลูกค้า อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับลูกค้าหรือไม่ หรือมีหุ้นมากไป น้อยไปหรือไม่กระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือไม่ ควรกระจายการลงทุนหรือไม่”
“Open Architecture คือ จะไม่ผูกติดกับ บล. เดียว แต่ให้บริการได้ทุก บล. โดยอาจจะเริ่มจาก 3-4 บล. ต้องคุยเรื่อง Business Model ว่า เขายินดีไหมที่จะมีคนมาคอยดูแลพอร์ตลูกค้าให้ แล้วเรามีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลพอร์ตของลูกค้า ต้องตกลงกันว่า เราจะเข้าไปในฐานะอะไร แต่จะไม่ไปยุ่งเรื่องการคัดเลือกหุ้นรายตัว เพราะแต่ละ บล. มีนักวิเคราะห์ให้คำแนะนำหุ้นรายตัวอยู่แล้ว”
อย่างก็ตาม ศุภกร ยอมรับว่า บริการดังกล่าวไม่มีรายได้มากนัก แต่ต้องการให้ลูกค้ามีพอร์ตที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บลจ.เอเชีย เวลท์ มีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (AUA) ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
แม้ บลจ.เอเชีย เวลท์ จะเป็น บลจ.น้องใหม่ แต่ถ้าวัดจากฝีมือและประสบการณ์ของ “ผู้บริหาร” และทีมงาน นี่คือ “มือเก๋า” อีกคนหนึ่งของวงการ และเมื่อตัดสินใจเข้ามารุกลูกค้ารายย่อยก็น่าจะสร้างทำให้ประชาชนคนธรรมดาไม่ต้องเดาว่า “กองทุนไหนดี” เพราะมีมืออาชีพมาช่วยคัดเลือกให้แล้ว