BYD ชี้แจงตลาด โตได้ไม่ง้อดอกเบี้ย TSB ธุรกิจบล.ติดปีก สภาพคล่องสูง

HoonSmart.com>>บล.บียอนด์ (BYD) ชี้แจงตลาดฯกรณีให้เงินกู้ TSB 9,697 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ข้อมูลคลาดเคลื่อน แจงสาระสำคัญใช้เงินกู้ยืม 8,789 ล้านบาท ยันพักหนี้กว่า 3 ปี ไม่มีกระแสเงินสดดอกเบี้ยรับ ไม่กระทบฐานะการเงิน-สภาพคล่อง ชี้ธุรกิจหลักทรัพย์โต กอดเงินสด 656.7 ล้านบาท สินทรัพย์สภาพคล่อง 1,470.8 ล้านบาท NCR สูงลิ่ว 312%  ตั้งค่าเผื่อหนี้ฯ ตามเกณฑ์ ผู้โดยสาร TSB โตเร็ว แนวโน้มสูงเทียบรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) คืนหนี้ได้ชัวร์ หุ้นวางหลักประกันเพียงพอ 

นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บียอนด์ (BYD)  ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ เรื่องข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/ 2567 ที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย สมายล์ บัส (TSB) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมโดยอ้อมนั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงพร้อมกับให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนได้ดังนี้

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว เพื่อใช้ลงทุนใน TSB  จึงเข้าถือหุ้นโดยอ้อมใน TSB และบริษัทย่อย ผ่านบริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น (ACE) ซึ่ง ACE เป็นบริษัทร่วม จากการถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิรวมกัน 49.39% ของทุนชำระแล้ว และ ACE ถือหุ้นใน TSB 100%

การลงทุนใน TSB เป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทฯ ที่เห็นประโยชน์จากโครงการบริการขนส่งสาธารณะของ TSB และบริษัทในกลุ่ม ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้บริการด้วยรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องจำนวน 123 เส้นทาง และได้รับใบอนุญาตให้เดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและเป้าหมายของประเทศในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อีกทั้งเป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการขนส่งมวลชนของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระบบขนส่งมวลชนที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ และ TSB มีแผนที่จะนำ E-Bus มาให้บริการไม่น้อยกว่า 2,130 คัน ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก  แหล่งเงินทุนจึงมาจากทั้งส่วนของเจ้าของและเจ้าหนี้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามเหตุผลอันสมควรในแต่ละคราว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ TSB และบริษัทในกลุ่มให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity) ให้บรรลุตามแผนงานในปัจจุบันและในอนาคตได้ โดยมีสภาพคล่องทางการเงินและต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะ ซึ่งจะกระทบประชาชนในวงกว้าง

สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ TSB ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 มีมติด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 99% ของผู้มีสิทธิออกเสียง อนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ TSB จำนวน 8,550 ล้านบาท  สนับสนุนโครงการการลงทุนขยายธุรกิจ และนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงกันเท่านั้น โดยมีหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ของ ACE ที่ผู้ร่วมทุนถืออยู่ทั้งหมดมาเป็นหลักประกัน

วัตถุประสงค์ในการใช้เงินจากการกู้ยืมครั้งนี้ประกอบด้วย

1. ซื้อกิจการทั้งหมดของ ETH จาก EMH จำนวน 6,000 ล้านบาท
2. ซื้อหุ้นทั้งหมดของ EXA และ RJR 200  ล้านบาท
3. ซื้อ E-Bus บางส่วน เพื่อให้เป็นไปตามจำนวนขั้นต่ำที่กรมขนส่งทางบกกำหนด 2,280 ล้านบาท
4. สร้างอู่จอดรถ สำนักงาน และงานดูแลรักษา 138 ล้านบาท
5. ลงทุนในระบบ Single Network-Single Price-Single Management Project 107 ล้านบาท
6.สำรองค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโครงการลงทุน 74 ล้านบาท เช่น การซื้อบริษัท แกรนด์ซิตี้บัส ผู้ให้บริการรถโดยสารสาย 75 ที่มีรายได้สูง

รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,789 ล้านบาท มากกว่าที่คาดไว้จำนวน 239  ล้านบาท

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ EA และติดตามคำชี้แจงเรื่องการให้เงินกู้ยืมกับ TSB (นำไปใช้เช่าซื้อรถ) ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2567 เท่ากับ 9,697 ล้านบาทนั้น บริษัทฯขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยสาระสำคัญของการนำเงินจากการกู้ยืมไปใช้ ปรากฏดังตารางข้างต้นแล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 มีมติด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 99% อนุมัติตามคำขอของ TSB ปรับเงื่อนไขและข้อตกลงภายใต้สัญญากู้ยืมเงิน โดยขยายระยะเวลา Grace period และพักการชำระดอกเบี้ย (ระหว่างพักการชำระดอกเบี้ยยังคงคำนวณดอกเบี้ยอยู่ ) ออกไปอีกไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน คือไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. 2570 สนับสนุนให้ TSB มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น และบริหารกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายได้ดีขึ้น

ที่ประชุมฯ ยังอนุมัติให้การสนับสนุนทางการเงินในส่วนขยายการลงทุนเพิ่มเติมให้กับ TSB จำนวน 1,000 ล้านบาท โดยนำหุ้นของบริษัท ไทย สมายล์ โบ้ท (จำนวน 45,847,998 หุ้น) ที่ TSB ถืออยู่ทั้งหมด และหุ้นของบริษัท เบลี่ เซอร์วิส  (จำนวน 49,000 หุ้น) ที่บริษัท สมาร์ทบัส (บริษัทย่อยของ TSB) ถืออยู่ทั้งหมดมาวางเป็นหลักประกัน (รายละเอียดการให้ความช่วยเหลือและความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระปรากฏในข่าวที่บริษัทฯ เ้ปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว)

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 มีมติด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 99% อนุมัติการเพิ่มทุนและการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน  757,555,156 หุ้น พาร์หุ้นละ 5 บาท  เพื่อนำเงินไปใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจเดิม และใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และบริษัทร่วม เพิ่มโอกาสสร้างรายได้และความสามารถในการขยายกิจการของบริษัทฯ และ/หรือบริษัทร่วม ซึ่งรวมถึง TSB ในกรณีหาก TSB ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นตามที่เคยคาดการณ์ไว้แ  ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 มีมติอนุมัติจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 252,518,386 หุ้น ในอัตรา 20 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท มีผู้ถือหุ้นจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งสิ้น 160,261,128 หุ้น ระดมทุนได้จำนวน 400.65 ล้านบาท ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567  อนุมัติการใช้เงินสนับสนุนทางการเงินแก่ TSB จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากการเพิ่มทุนตามมติของที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 กำหนดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 31 ธ.ค.2569

ทางด้านข้อมูลผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และสภาพคล่องของบริษัท จากข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ขาดทุน 0.02 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงาน 383.75 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินทรัพย์ดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ ลูกหนี้สำนักหักบัญชีและบริษัทหลักทรัพย์ 210.33
ล้านบาท และลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จากธุรกิจหลักทรัพย์และการให้สินเชื่อมาร์จิ้น 343.47 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามปกติของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์รายอื่นๆ ทั่วไป  บริษัทฯ นำเงินไปลงทุนในลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าว  จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยมาร์จิ้น ค่านายหน้า และค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งผลประกอบการมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

จากรายการสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดในบัญชีบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 แสดงถึงสภาพคล่องของบริษัทฯดังนี้
เงินสด เงินฝากระยะสั้น และตั๋วเงินระยะสั้น 1,363.21 ล้านบาท
หัก เงินฝากในนามบริษัทเพื่อลูกค้า (705.19) ล้านบาท
รวมเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด (ส่วนของบริษัท) 656.74 ล้านบาท

หากพิจารณาสภาพคล่องของบริษัทฯ ตามเกณฑ์ของทางการ จะพบว่า ณ วันที่ 17 ก.ย. 2567 บริษัทฯ ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่อง (NC) จำนวน 1,470.8 ล้านบาท และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิ (NCR) 312.4% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 7% แสดงว่า การไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับจาก TSB ไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัทแต่อย่างใด

สำหรับข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำเป็นตารางสรุปฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานปี 2566 ของ TSB และหลักประกันเงินให้กู้ยืม โดยเปิดเผยไว้ในคำขอให้บริษัทฯ ชี้แจงนั้น บริษัทฯ ขอให้ข้อมูลเพื่อความชัดเจน และไม่ให้เกิดความสับสนว่า เนื่องจาก ACE ถือหุ้น TSE ทั้งหมด 100 % และ TSB ถือหุ้นในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยต่างๆ ในสัดส่วน 49-100% ดังนั้น ACE จึงจัดทeงบการเงินรวมตามมาตรฐานบัญชี และสอบทาน/ตรวจสอบ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทำให้งบการเงินของ ACE จึงเป็นรายงานทางการเงินที่สะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทั้ง ACE และกลุ่ม TSB ไว้แล้ว รวมถึง TSB ก็จัดทำงบการเงินรวมตามมาตรฐานบัญชี และสอบทาน/ตรวจสอบ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. งบการเงินของ TSB ที่ได้รวมฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมและบริษัทย่อยทั้งหมดไว้ด้วยแล้วเช่นกัน ดังนั้นบริษัทฯ จึงขอให้ผู้ใช้ข้อมูลพึงระมัดระวังโดยการไม่รวมตัวเลขของ ACE, TSB หรือ บริษัทย่อยของ TSB ที่จะทำให้เกิดการนับซ้ำได้

สำหรับข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจง 1.ผลกระทบจากการพักชำระหนี้ให้กับ TSB ออกไปอีกไม่เกิน 3 ปี 3เดือน ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัทนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัท  เพราะรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนการขยายธุรกิจหลักทรัพย์ นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 มีการรับผู้บริหารและพนักงานทางด้านการตลาดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management) และธุรกรรมที่
เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ  จึงต้องมีการลงทุนทั้งอาคาร สถานที่ อุปกรณ์และระบบต่างๆ เพื่อให้เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการที่ครบ
วงจรและตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า ส่งผลต่อในช่วงแรกมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น สำหรับฐานะการเงิน และสภาพคล่องของบริษัท ยังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยยังสามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิและอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานก.ล.ต. ที่กำหนดให้มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท และ NCR ไม่ต่ำกว่า 7% ของหนี้สินทั่วไปและทรัพย์สินที่ต้องวางเป็นประกัน

2.นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้กู้ยืมกับ TSB เนื่องจากปี 2566 TSB มี ผลการดำเนินงานขาดทุนและส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ปรับเงื่อนไขและข้อตกลงภายใต้สัญญากู้ยืมเงินระหว่างบริษัทฯและ TSB ให้ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน โดยให้เริ่มชำระไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. 2570 ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณาเหตุดังกล่าวตาม TFRS 9 และถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินสดตามสัญญา ดังนั้นจึงคำนวณผลกระทบและรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีจำนวน  102.91 ล้านบาท แสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุนในไตรมาสที่ 1/2567 เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการประเมินการด้อยค่าของเงินให้กู้ยืมของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 จึงประเมินโดยยึดตามเงื่อนไขและตารางการจ่ายเงินใหม่
ประเมินตามหลักการของ TFRS 9 ซึ่งการพิจารณาการด้อยค่า (ECL) ของเงินให้กู้ยืมบริษัทฯ ได้พิจารณาใน 2 แง่มุมได้แก่
1. จำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับคืน
2. ระยะเวลาที่จะได้รับคืน

1. จำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับคืน บริษัทฯ พิจารณาจากข้อเท็จจริงสนับสนุนหลายประการ เช่น ประมาณการกระแสเงินสดของกลุ่ม TSB ว่าสามารถสร้างกระแสเงินสดได้เพียงพอจ่ายคืนเงินกู้ยืมของบริษัทฯ ซึ่งจะเห็นได้จากผลประกอบการของ TSB ที่ดีขึ้นเนื่องจาก ขสมก. ถอดถอนเส้นทางที่วิ่งทับซ้อนกับเส้นทางที่กลุ่ม TSB มีสิทธิโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงต้นไตรมาสที่ 3/2567 ส่งผลให้จากเดิมที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 280,998 คน/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 328,839 คน/วัน (ผู้โดยสารสูงสุดที่ 372,531 คน/วัน) ซึ่งบริษัทฯ ได้ประเมินประมาณการกระแสเงินสดที่สะท้อนปัจจัยดังกล่าวแล้ว พบว่า TSB ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอจ่ายคืนเงินกู้ยืม
และคาดว่าจะได้รับเงินให้กู้ยืมคืนทั้งจำนวน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้พิจารณาการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทร่วม พบว่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมยังไม่ด้อยค่า เนื่องจากประมาณการกระแสเงินสดที่คำนวณได้หักเงินให้กู้ยืมจำนวนดังกล่าวแล้วยังเหลือพอที่จะคืนเงินลงทุนในบริษัทร่วม

2.ระยะเวลาที่จะได้รับคืน

ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 เงินให้กู้ยืมดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดชำระคืน และถือว่ายังไม่มีเหตุผิดนัดชำระ นอกจากนี้บริษัทฯ ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของ TSB จากประเด็นหลักดังต่อไปนี้

TSB มีแผนการดำเนินงานและการลงทุนที่ชัดเจนในการทำรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าภายใต้ใบอนุญาตที่ถูกกำหนดในเรื่องของราคาค่าโดยสาร และต้นทุนที่ค่อนข้างแน่นอน

TSB เป็นบริษัทเอกชนที่ครอบครองเครือข่ายการให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะรายใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีคู่แข่งเข้ามาในระยะสั้น หรือระยะกลาง

นับจากเริ่มให้บริการในปี 2565 เป็นต้นมา รวมเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว กลุ่ม TSB มีรายได้จากการให้บริการที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ  บริษัทฯได้ พิจารณาความคืบหน้าในการสร้างรายได้ของ TSB และได้ติดตามข้อมูลจากระบบการควบคุมการปฏิบัติการ  พบว่าจำนวนผู้โดยสารสูงสุด คือ 372,531 คน/วัน มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระดับที่เทียบเคียงได้กับจำนวนผู้โดยสารต่อวันในระบบขนส่งของรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ซึ่ง
เปิดให้บริการมากว่า 20 ปีแล้ว พบว่า ณ เดือนส.ค. 2567 มีจำนวนเฉลี่ย 450,000 เที่ยวต่อวัน (อ้างอิงข้อมูลจาก www.bemplc.co.th)

ทั้งนี้จากเหตุผลสนับสนุนดังกล่าวเป็นเหตุให้เชื่อว่าความเสี่ยงด้านเครดิตของ TSB ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรก บริษัทฯ จึงพิจารณา ECL ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้าเท่านั้น และพบว่ายังไม่ถึงกำหนดชำระและไม่มีเหตุผิดนัดเกิดขึ้น นอกจากนี้จากการพิจารณาประมาณการกระแสเงินสดของ TSB ภายหลัง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทฯ เชื่อว่าTSB ยังคงสามารถจ่ายคืนเงินให้กู้ยืมได้ตามกำหนดชำระภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงที่ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากผู้ถือหุ้น

3. ความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันเงินให้กู้ยืมกับ TSB และมาตรการดูแลความเสี่ยงและการดำเนินการของบริษัทฯ ในการดูแลลูกหนี้ TSB

จากโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯ หาก TSB มีการผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย บริษัทฯสามารถยึดหลักประกัน ซึ่งเป็นหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของ ACE (บริษัทร่วมของบริษัทฯ) ที่ถือโดยผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ACE เป็นไปตามสัญญากู้ยืมเงิน ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าไปจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของ TSB ทั้งหมดได้ต่อไป

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการติดตามการดำเนินงานของ TSB และบริษัทย่อยรายเดือน การเข้าตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายใน การเข้าตรวจสอบ
ของผู้สอบบัญชี และการเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายบริหารของ TSB ตลอดจน เข้าตรวจเยี่ยมกิจการเป็นระยะๆ เพื่อติดตามการใช้จ่ายลงทุนตามแผนงานที่ได้แจ้งต่อบริษัทฯไว้ให้คำแนะนำ สนับสนุนการดำเนินงาน และพัฒนาธุรกิจร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการรายงานให้ที่
ประชุมคณะกรรมการบริหารรับทราบเป็นประจำทุกเดือน และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบทุกไตรมาส

บริษัทฯ ขอเรียนว่า นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการคณะกรรมการบริษัททำการกำกับและติดตามอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยคำนึงถึงความเพียงพอของเงินทุน การมีสภาพคล่องที่มากเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจหลักทรัพย์ การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแล และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มาโดยตลอด อีกทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลทรัพย์สินของลูกค้าให้ปลอดภัย

” การเข้าลงทุนใน TSB  บริษัทฯ ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนมาเป็นลำดับ การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัทฯ ชี้แจงรายการในครั้งนี้ ส่งผลให้ลูกค้า พนักงาน และบุคคลภายนอกเกิดความกังวล และสอบถามเข้ามายังบริษัทฯ ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนั้น บริษัทฯจึงหวังว่า คำชี้แจงให้เห็นภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการเปิดเผยถึงสถานะและสภาพคล่องของบริษัทฯ ในครั้งนี้จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และชัดเจนได้ “บล.บียอนด์ระบุ