บล.CGSI “คงน้ำหนัก” กลุ่มแบงก์ …ขาดปัจจัยหนุน – คุณภาพสินทรัพย์ลด

HoonSmart.com >> บล.CGSI  ระบุในบทวิเคราะห์ กลุ่มแบงก์ สินเชื่ออุปโภค-บริโภค มีคุณภาพสินทรัพย์ลดลง   แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุนกลุ่มแบงก์ ขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและน่าจะมี ROE ต่ำที่ 8.7-8.8% ในปี 67-69 แต่มี upside risk หากการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น, ยอดส่งออกเติบโตสูงขึ้นและรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน downside risk  มาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า

ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า วันที่ 27 ส.ค.67 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/67 โดยแสดงอัตราส่วน NPL ของกลุ่มธนาคาร แบ่งตามกลุ่มธุรกิจและพอร์ตสินเชื่ออุปโภค-บริโภค ทั้งนี้ในไตรมาส 2/67 กลุ่มธนาคารยังคงมีคุณภาพสินทรัพย์ลดลง นำโดยสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก

ขณะที่ภาคการผลิตและบริการ ค่อนข้างทรงตัว qoqธปท. ยังเปิดเผยสัดส่วนสินเชื่อ Stage 2 (สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต) และ Stage 3 (สินเชื่อด้อยคุณภาพหรือ NPL) ต่อสินเชื่อรวมไตรมาส 2/67 ซึ่งพบว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนสินเชื่อ Stage 2 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีสัดส่วนสินเชื่อ Stage 3 ค่อยๆเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนสินเชื่อ Stage 2 เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้และราคารถมือสองที่ลดลงกลุ่มธนาคาร มีสินเชื่อที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ในไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้นเป็น 1.12 แสนล้านบาท จาก 1.09 แสนล้านบาทในไตรมาส 1/67 และจาก 1.01 แสนล้านบาทในไตรมาส 2/66 เนื่องจาก สินเชื่อที่เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็น NPL (relapsed หรือ re-entry NPL) เพิ่มขึ้นทั้ง yoy และ qoq เป็น 2.8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม NPL ใหม่ในไตรมาส 2/67 ยังลดลงเล็กน้อย qoq เป็น 8.4 หมื่นล้านบาท  ฝ่ายวิเคราะห์ฯ เชื่อว่า relapsed NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น yoy และ qoq ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยที่ปรับโครงสร้างหนี้ช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ได้มีการชำระคืนหนี้ในปี 67 เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ดัชนี SET Index และ SETBANK วันที่ 27 ส.ค.67 ปรับขึ้น 7.0% และ 9.2% จากจุดต่ำสุดในวันที่ 5 ส.ค. 67 ตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองไทยเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นและตลาดคาดหวังว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ช่วงปลายเดือนก.ย.67 ส่วนหุ้นที่ช่วยให้กลุ่มธนาคาร outperform ตลาด จะนำโดยธนาคารขนาดใหญ่อย่าง KBANK, BBL, KTB และ TTB ขณะที่ KKP เป็น best performer ช่วงวันที่ 5-27 ส.ค. 67 หลังจากก่อนหน้านี้ถูกนักลงทุนในประเทศ เทขายอย่างหนัก จากความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และสินเชื่อที่เติบโตต่ำในครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม SET Index และ SETBANK ยังคงติดลบช่วงวันที่ 1 ม.ค.-27 ส.ค.67 โดยลดลง 4.8% และ 1.9% ตามลำดับ ส่วนธนาคารที่เป็น best performer ในช่วงเวลาดังกล่าวคือ TTB (+10.1%) และ KBANK (+6.7%)

โดยยังมี BBL และ KBANK เป็น Top pick เชื่อว่ากลุ่มธนาคาร ยังมีการประเมินมูลค่าน่าสนใจที่ P/BV เพียง 0.57 เท่า ในปี 67 (ต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี) แต่ยังแนะนำให้ “คงน้ำหนัก”  การลงทุน (Neutral) เพราะมองว่า กลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและน่าจะมี ROE ต่ำที่ 8.7-8.8% ในปี 67-69 อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารจะมี upside risk หากการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น, ยอดส่งออกเติบโตสูงขึ้นและรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน downside risk จะมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า