ศก.ไตรมาส 2 โต 2.3% ดันหุ้นพุ่ง 20 จุด สภาพัฒน์ห่วงสารพัดปัจจัยเสี่ยง

HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์-ไฟแนนซ์พุ่งฉิ่วรับเศรษฐกิจไตรมาส 2/67 โต 2.3% ดีกว่าคาดที่ 2.1% ได้การใช้จ่ายภาครัฐ-เอกชน ส่งออกหนุน ส่วนการลงทุนลดลง 6.2% สภาพัฒน์วางกรอบเป้าโตทั้งปี 2.3-2.8% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5% เสนอรัฐแก้ 3 ปัญหาเสี่ยง หากล้ม”ดิจิทัลวอลเล็ต”แนะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ เน้นช่วยผู้มีรายได้น้อย  บล.อินโนเวสท์ เอกซ์กังวล 3 ประเด็น หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ลงจาก 2.5% เป็น 2.3%  

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2567 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาส 1 รวมครึ่งปีแรกขยายตัว1.9% ส่วนเป้าทั้งปียังคงขยายตัว 2.5% แต่ปรับกรอบแคบลงเป็น 2.3-2.8 % จากเดิมคาดโต 2.0-3.0%

” เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาครัฐบาลที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันของเอกชนที่ดีต่อเนื่อง  การส่งออกสินค้าและบริการ และยังมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวจากสาขาอุตสาหกรรม สาขาบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่ง สาขาการค้า

ขณะที่การลงทุนรวม ลดลง 6.2% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง 6.8% และการลงทุนภาครัฐที่ลดลง 4.3% นอกจากนี้ ภาคการก่อสร้าง ยังปรับตัวลดลง 5.5% เป็นผลมาจากงบลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่หดตัว

แนวโน้มช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มดีขึ้นจากสัญญาผูกกันงบประมาณที่ผ่านมา และการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงุทนของรัฐบาลที่ดีขึ้นตั้งแต่เริ่มครึ่งปีหลัง ซึ่งเติบโตมากกว่าเดิม ประกอบกับจะมีเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่จะเริ่มออกมาในเดือนต.ค.2567 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 มีเม็ดเงินเบิกจ่ายลงทุนมากขึ้นด้วย

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 2.3-2.8% ซึ่งมีค่ากลางอยู่ที่ 2.5% เท่าเดิมกับที่เคยประมาณการไว้ในการแถลงรอบก่อนหน้า (เดือนพ.ค.)  คาดว่า การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวได้ 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ

ส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปของดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี อยู่ในช่วง 0.4-0.9% ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 2,600 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.3% ต่อ GDP ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2567 อยู่ที่ 224,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 11.54 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 63.5% ต่อ GDP

เลขาฯสภาพัฒน์มองปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะถัดไป ประกอบด้วย
1.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวไทย

2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายในหมวดบริการ และสินค้าไม่คงทน  สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานล่าสุดยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ 1.07% ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับสูง

3.การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐงบปี 2567 ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนเร่งตัวขึ้น และแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกรอบเวลาปกติ

4.การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ทั้งภาคการผลิตและบริการในหลายประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และแนวโน้มวัฎจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่อง ได้แก่

1.ภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงิน เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อชะลอลง

2.ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ จนนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตทางเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับทิศทางกาดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

เลขาธิการสภาพัฒน์ เห็นว่า ยังมีประเด็นท้าทายสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการผลิต และการปรับโครงสร้างการผลิต โดยมองว่าภาคอุตสาหกรรม ยังคงขยายตัวในระดับต่ำ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทย ยังเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังมีสัดส่วนที่ต่ำ

” เราต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ตอนนี้มีการดำเนินการผ่าน BOI  ชักชวนนักลงทุนต่างประเทศจากหลายสาขาเข้ามา เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามามากขึ้น” นายดนุชา กล่าว

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณภาพต่ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งกำกับดูแล และตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้นในการดูแลการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ หรือการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามา เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME

ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 สภาพัฒน์ แนะนำว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง1. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการงบประมาณ เพื่อให้การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

2. การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย การเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญให้เป็นไปตามแผน การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น ที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา และมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด และข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า

3. การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้น 1.การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ 2.การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ
สินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น และ 3.การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือหลบเลี่ยงภาษี

4. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง และลดการอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่  SMEs

5. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และมุ่งเน้นการลงทุนให้กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก

6. การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานีญา  อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี และปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากภัยแล้งในช่วงปีหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการเตือนภัย

7. การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ในช่วงปลายปี และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน  ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป

8. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ และใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความรุนแรงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก

ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐบาลชุดใหม่จะไม่ดำเนินการต่อ ก็อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาทดแทน เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และงบรายจ่ายปี 2568 ควรต้องมีส่วนหนึ่งเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

นายดนุชากล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่าให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. เพราะเป็นเรื่องสำคัญ   จากแนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัวในระดับสูง ขึ้นอยู่ที่ ธปท. จะมองว่าอย่างไร

ด้านบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 2.5% เป็น 2.3%  หลังจากสภาพัฒน์เปิดเผยไตรมาสที่ 2 เติบโต 2.3% โดยมอง 4 ปัจจัยสนับสนุน และ 3 ปัจจัยกังวล  เบื้องต้นวิเคราะห์ว่ามุมมองของสภาพัฒน์เป็นการมองโลกในแง่ดีในระดับหนึ่ง โดยมีข้อกังวล 3 ประเด็น ได้แก่ 1.โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสสองต่อเนื่องเดือนก.ค. 2. การส่งออกของไทย ได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง รวมถึงการทุ่มตลาดของจีนมากขึ้น และ 3.การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้การบริหารประเทศ และกระบวนการจัดทำงบประมาณสะดุดในระดับหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ที่ 2.6% ขึ้นกับมาตรการเศรษฐกิจภาครัฐ ส่วนไตรมาส 2 ขยายตัวที่ 2.3% ความไม่แน่นอนทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ขึ้นกับมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนงบประมาณปี 2568 หากขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักเทียบกับแผนโครงการดิจิทัลวอลเลต รวมถึง พรบ. งบประมาณปี 2568 บังคับใช้ทัน 1 ต.ค. 2567

“คาดว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ที่ 2.6% แต่หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐล่าช้าออกไป และไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาทดแทนในช่วงไตรมาสที่ 4  ตลอดจนมีความล่าช้าในการใช้ พรบ. งบประมาณปี 2568 ออกไปมากกว่า 1 เดือน แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ คงจะมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น โดยมีกรอบล่างประมาณการรองรับไว้ที่ 2.2% ซึ่งณ ขณะนี้ยังมองโอกาสการเกิดไม่สูง”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

ภาวะตลาดหุ้นวันที่ 19 ส.ค.2567  ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2567 ออกมาเติบโตดีเกินคาดที่ 2.3% และการเมืองเริ่มชัดเจน มีนายกฯคนใหม่ ซึ่ง “แพทองทา ชินวัตร”ประกาศเร่งฟอร์มทีมครม. ผลักดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นแรงปิดที่จุดสูงสุดของวันที่ระดับ 1,323.38  จุด  +20.38 จุด หรือ+1.56% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 62,358.60 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นนำตลาดเอเชียที่มีบวกและลบคละกัน ตลาดหุ้นฮ่องกง +0.80% เซี่ยงไฮ้ +0.49% ส่วนญี่ปุ่นร่วงมากถึง -1.77% เกาหลี -0.85% เนื่องจากนักลงทุนมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์ ค้าปลีกและท่องเที่ยว

สาเหตุที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงกว่า 60,000 ล้านบาท เนื่องจากมีรายการบิ๊กล็อต SCCC  มูลค่าประมาณ  12,000 ล้านบาท  โดยนักลงทุนต่างชาติขาย ทำให้สิ้นวันต่างชาติขายสุทธิ 10,486.55 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยซื้อ 7,679.24 ล้านบาท  และสถาบันไทยซื้อสุทธิ 2,925.74 ล้านบาท

 

 

 

……………………………………………………………………………………………………..