ฟอร์ซเซล YGG ลาม ‘กองทุนรวม’ จับตาเปลี่ยนเจ้าของ-ขาใหญ่เทรดโกยกำไร

HoonSmart.com>>บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) ผู้นำด้านแอนิเมชั่นและเกมส์ เป็นหุ้นจิ๋วแต่แจ๋ว ดึงดูดให้นักลงทุนและกองทุนรวมเข้ามาลงทุน แต่หุ้นกลับเจอวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่นำไปวางค้ำประกันมาร์จิ้นถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) ฉุดให้ราคาหุ้นดิ่งฟลอร์สองวันติด ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน โดยเฉพาะนาย ธนัช จุวิวัฒน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 41 % ซึ่งไม่รู้ว่าเหลือหุ้นอยู่ในมือเท่าไร และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีผลต่ออนาคตของอิ๊กดราซิลฯมากแค่ไหน…  

ข้อมูลจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่มี 2 กองทุนถือหุ้น YGG  ได้แก่ กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ ถือหุ้นอันดับ 11 จำนวน 4,566,600 หุ้น คิดเป็น 0.76% และมีกองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ ถือหุ้นอันดับ 15 จำนวน 3,592,000 หุ้น สัดส่วน 0.60% มีรายย่อยจำนวน 6,844 ราย ถืออยู่ 51.13% (ณ 21 มี.ค.67)

นางสาวทิพย์วดี อภิชัยสิริ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส เปิดเผย “HoonSmart” ว่า ปัจจุบันกองทุนแอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ (ASP-SME) ไม่ได้ถือหุ้น YGG แล้ว มีการปรับลดน้ำหนักลงทุนหุ้น YGG มาอย่างต่อเนื่องก่อนที่ราคาหุ้นจะร่วงติดฟลอร์จากการถูกฟอร์ซเซล ซึ่งการที่กองทุน ASP-SME มีรายชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นจากข้อมูลที่ปรากฎจากตลาดหลักทรัพยฯ นั้น เป็นการปิดสมุดทะเบียนตั้งแต่เดือนมี.ค.2567 ที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนหุ้นอื่นๆ ของบลจ.แอสเซท พลัสก็ได้ปรับพอร์ตขายหุ้น YGG ออกหมดแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบสัดส่วนที่กองทุนถือหุ้นกับพอร์ตทั้งหมดของกองทุนถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

“กองทุนปรับพอร์ตขายหุ้น YGG เป็นไปตามกลยุทธ์บริหารจัดการลงทุนหุ้นไทยในปี 2567 เพื่อให้สอดคล้องสภาวะตลาด ดัชนี SET ปรับตัวลงมาก ส่วนหนึ่งจากการเบิกจ่ายงบภาครัฐล่าช้ากว่าคาด แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดการณ์และบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น”นางสาวทิพย์วดี กล่าว

ขณะที่กองทุน ASP-SME เน้นลงทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก ปรับกลยุทธ์บริหารพอร์ตแบบ Conservative มากขึ้น ถือครองเงินสดเพิ่มขึ้นและปรับพอร์ต ลดน้ำหนักหุ้นบางตัว โฟกัสหุ้นมองภาพระยะกลาง คาดการณ์ผลดำเนินงานในงวดถัดไปยังเติบโตได้ดี เช่น กลุ่มอาหารและส่งออก ยังได้ผลบวกจากกลุ่มที่มีกำลังซื้อและเลี่ยงกลุ่มที่เกี่ยวข้องการบริโภคเป็นหลักจากกำลังซื้อของประชาชนในวงกว้างที่ยังไม่ค่อยดี

“หุ้น YGG มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในอนาคต แต่อาจต้องใช้เวลารอการสร้างกำไรจากแผนธุรกิจ จึงอาจไม่เหมาะกับภาะตลาดตอนนี้และหากไม่ปรับพอร์ต หุ้นเหล่านี้จะดึงผลการดำเนินงานของพอร์ตกองทุนโดยรวมลดลงได้ จากเดิมตั้งใจถือลงทุนระยะยาวและติดตามพัฒนาการของบริษัท แต่จากภาพตลาดที่เปลี่ยนไป  รวมถึงสัญญาณเลื่อนเปิดตัวเกมในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงภาพยนต์ที่ยังต้องติดตามต่อ จึงเป็นเหตุผลให้ขายหุ้น”นางสาวทิพย์วดี กล่าว

สำหรับมุมมองหุ้นไทยในปัจจุบัน มองใกล้จุดต่ำสุด แต่ยังไม่เด้งเร็ว ตลาดยังถูกกดดันจากคดีทางการเมือง หากผลการตัดสินคดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ผ่านไปได้ ตลาดน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นรวมถึงงบลงทุนภาครัฐเร่งเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณเดือนก.ย.นี้

นางสาวทิพย์วดี กล่าวว่า นักลงทุนที่สนใจกองทุนหุ้นไทย นอกจากกองทุน ASP-SME ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเล็ก แกร่ง โอกาสรับผลตอบแทนแรงจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของหุ้นไทยขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small – Mid Cap) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการเติบโตต่อเนื่อง โครงสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง มีโอกาสทำกำไรเหนือตลาดคาดการณ์ คัดสรรหุ้นเล็กแบบเจาะลึก บริหารความเสี่ยงอย่างเข้มข้นแล้ว แนะนำกองทุนเปิด แอสเซท พลัส ไทย ท็อป 12 (ASP-T12) ลงทุนหุ้นไทยตัวท็อป เพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนอย่างก้าวกระโดดจากการจับจังหวะการลงทุนลงทุนกลุ่มหุ้นทุกขนาด (All Cap) ที่มีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ หุ้นที่ยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับตลาด (Value), หุ้นกลุ่มผู้ชนะที่เติบโตดีที่สุด (Growth) และหุ้นที่มีความผันผวนของกำไรและราคาสูง (Turnaround) ใช้กลยุทธ์การวิเคราะห์และให้คะแนนการเลือกหุ้นด้วย Investment Scorecard เจาะลึกทั้งในเชิง Qualitative และ Quantitative อย่างรอบด้าน

กองทุน ASP-T12 เหมาะสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง เพราะเน้นลงทุนหุ้นเพียง 12 ตัวเท่านั้น ซึ่งผลการดำเนินงานปีนี้ทำได้ดีและ Outperform ตลาด

ด้านนายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ประเด็นราคาหุ้น YGG ปรับตัวลงแรงจากการถูกฟอร์ซเซล มองจะกระทบราคาหุ้นในระยะสั้น ซึ่งกรณีหุ้น YGG เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนวิเคราะห์และบริหารจัดการ แต่ตามปกติแล้วขั้นตอนการเลือกหุ้นของกองทุนจะให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานหุ้นเป็นอันดับแรก ดังนั้นหากหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดี เชื่อว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปได้ในที่สุด

สำหรับ  YGG เป็นหุ้นที่ถูกนำไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นมากถึง 54.23% ของในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อราคาปรับตัวลง จึงถูกบังคับขายจำนวนมาก ทำให้ราคาดิ่งลงฟลอร์สองวันติด (2-3 ก.ค.) ส่วนวันที่ 4 ก.ค. เปิดที่ 1.21 บาท ฟลอร์ที่สาม แต่กลับมีแรงไล่ซื้อ จากนักลงทุนรายใหญ่ที่มองเห็นโอกาสจากวิกฤต ราคาเด้งมาปิดที่ 1.57 บาท -0.16 บาทหรือ -9.25% โดยมีมูลค่าซื้อขายมากถึง 2,054.98 ล้านบาท และยังมีแรงเก็งกำไรต่อในวันที่ 5 ก.ค. ไล่ราคาซิลลิ่ง ปิดที่ 2.06 บาท พุ่งขึ้น 0.49 บาทหรือ+31.21% มูลค่าเบาบางลงเหลือเพียง 669.36 ล้านบาท จึงมีการตั้งคำถามว่านาย ธนัช จะเหลือหุ้นอยู่เท่าไร  และหุ้นส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของใคร

” ต้องยอมรับว่า YGG ผงาดขึ้นมายืนตำแหน่งผู้นำด้านแอนิเมชั่นและเกมส์ มีลูกค้ากระจายอยู่หลายประเทศ สร้างกำไรปีละมากกว่า 100 ล้านบาท ด้วยอัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 30%  เพราะฝีมือของนายธนัช  หากไม่อยู่หรือถือหุ้นน้อยลง YGG  จะเป็นอย่างไร นับเป็นความเสี่ยงของบริษัท ”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน YGG เป็นภาพเดียวกับบริษัทที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกฟอร์ซเซลหนักๆ  เช่น NEX ของนาย คณิสสร์ ศรีวชิระประภา

ส่วนบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ก็มีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาไต่ขึ้นจากต่ำสุด 11.90 บาท ขึ้นไปปิดที่ 13.70 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 12.30% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 3,277.66  ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 10% ของตลาดโดยรวมที่  32,922.51 ล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องถึงหุ้นในกลุ่ม  NEX และ BYD

อย่างไรก็ตาม นาย สมโภชน์ อาหุนัย รายงานก.ล.ต. ว่านิติบุคคล (โซตัส แอนด์ เฟท 1 ) ขายหุ้น EA วันที่ 1 ก.ค. จำนวน 14.69 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 12.60 บาท คงเหลือจำนวน 472,316,386 หุ้น ทำรายการผ่านตลาดหลักทรัพย์ (UBS AG Singapore Branch ขายผ่าน บล.ยูบีเอส(ประเทศไทย) )

วันเดียวกัน นาย อมร ทรัพย์ทวีกุล ขายหุ้น EA 9.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 12.70 บาท คงเหลือจำนวน 54,141,916 หุ้น ทำรายการผ่านตลาดหลักทรัพย์ (บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย))