ดัชนีเชื่อมั่นอีก 3 เดือนทรงตัว กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มเด่นสุด

HoonSmart.com>>ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 คาดหวังปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และนโยบายของเฟด ส่วนปัจจัยฉุดคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเงินเฟ้อ 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) จากผลสำรวจระหว่างวันที่ 23–31 พ.ค. 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.72 โดยยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ อาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) ที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่  สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงินบาท

“ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 26.7% มาอยู่ที่ระดับ 96.88 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.6% มาอยู่ที่ระดับ 100.00 ส่วนกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 0.7% มาอยู่ที่ระดับ 122.22 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัว อยู่ที่ระดับ 100.00 ขณะที่ดัชนีหุ้นในเดือนพ.ค. แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด และดัชนีปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนตามทิศทางหุ้นภูมิภาคจากความกังวลว่า FED อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงต่อไป

ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2567 ดัชนีปิดที่ 1,345.66 ลดลง  1.6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,162 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 16,566 ล้านบาท  โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 81,641 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะเป็นผลจากนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจากประกาศแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี  และแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอน  ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินบาท แผนการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2567 และเสถียรภาพการเมืองไทยที่ยังสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ