HoonSmart.com>>สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนก.พ. ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 121.13 ลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ภาคท่องเที่ยวหนุนความเชื่อมั่นได้มากที่สุด รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศ ปัจจัยฉุดมากที่สุดคือกังวลโควิดกลับมาระบาด รองลงมาสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน พร้อมมองหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยมาก เศรษฐกิจโลกจะถดถอยเร็วกว่าคาด ความผันผวนตลาดทุนจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยการส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกแล้ว ควรเร่งดูแลกลุ่ม SME เป็นพิเศษ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 121.13 ปรับตัวลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รองลงมาคือสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง
“ผลสำรวจ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 27.0% อยู่ที่ระดับ 121.62 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 9.1% อยู่ที่ระดับ 125.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 28.2% อยู่ที่ระดับ 107.69 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 23.6% อยู่ที่ระดับ 122.22″
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 SET Index ปรับตัวลดลงโดยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก นักลงทุนมีความกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องหลังจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการที่เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศห่างกันชัดเจน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้โดยตัวเลข GDP ล่าสุดที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศ พบว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวเพียง 1.4% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.5% ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวแค่ 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 3.2% โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปิดที่ 1,622.35 จุด ปรับตัวลดลง 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กว่า 43,562 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 24,565 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาการจ้างงานจากแนวโน้มการลดคนอย่างต่อเนื่องของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัสเซีย—ยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมานานการ 1 ปี และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ—จีน จากปัญหา “บอลลูนจีน” ที่รุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ ซึ่งอาจลุกลามไปเรื่องสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นและนักท่องเที่ยวไทยจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง
“อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลกลุ่มธุรกิจ SME เป็นพิเศษ เพราะหลายแห่งมีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งกำลังมีปัญหา และมีหนี้เสียเกิดขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังจะดีขึ้น ซึ่งกลุ่มส่งออกรับผลกระทบอีกรอบจากเศรษฐกิจโลกอีกรอบ ส่วนธนาคารก็ตั้งสำรองหนี้ NPL เพิ่ม ซึ่งต้องให้เวลาปรับตัวพักหนึ่ง และทางออกของไทยก็ต้องมองไปที่การส่งออกไปตลาดจีนได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และควรจะดูแลค่าเงินให้ผู้ส่งออกด้วย”
ทั้งนี้ หากมีการยุบสภาในเดือนมี.ค.ตาม Timeline ของวิศณุ ก็จะเลือกตั้ง 7 พ.ค. และใน 2 เดือนก็จะจบกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นในเดือนส.ค.ก็จะได้ครม.ใหม่ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่เสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่จะมีมากหรือน้อยแค่ไหนยังต้องรอดู ดังนั้นการเลือกตั้งก็จะเป็นปัจจัยบวกของไทยในระยะสั้น ที่ยังต้องติดตามต่อไป
“ในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้ไทยไม่มีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกก็ซบเซา ดังนั้นเราต้องลงทุนภาคท่องเที่ยว แม้จะดีอยู่แล้วแต่ก็ยังดีได้อีก ควรลงทุนให้มากขึ้น อย่างการทำโฆษณาในจีนให้มากขึ้น ลดการเก็บค่าวีซ่าก็ได้ ทำให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงที่ส่งออกไปไม่ได้ การลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้นจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ และช่วงที่เหลือควรประกาศภาพให้ชัดก่อนที่จะเลือกตั้งว่าจะหมุนไปทางไหนที่จะช่วยเศรษฐกิจ และควรจะขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ออกมาก่อนที่จะเลือกตั้ง่ ส่วนไตรมาส 4 งบประมาณปีนี้อาจล่าช้า ก็ต้องใช้งบเดิม เราก็ควรเตรียมการต่าง ๆ ให้พร้อม สำหรับค่าเงินบาทไม่ควรแข็งค่าเกินไป ซึ่งที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็ถือว่าดี ช่วยหนุนกลุ่มส่งออกได้”
นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาก เศรษฐกิจก็จะถดถอยเร็วกว่าคาด ความผันผวนตลาดทุนก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตอนนี้กังวลเฟดไม่แน่นอนในนโยบาย ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดทุน และต้องปรับตัวไปอีกระยะ