SCB ตั้งเป้า 3 ปีรุกธนาคารดิจิทัลเต็มสูบ ครองแชมป์บริหารเวลธ์ 2 ล้านลบ.

HoonSmart.com>>ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศวิสัยทัศน์ “Digital Bank with Human Touch” วางเป้าหมาย 3 ปี (66-68) ปรับสู่ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตั้งงบลงทุน 7 พันล้านบาท ครองแชมป์บริหารความมั่งคั่ง ส่วนแบ่ง wealth wallet share อันดับ 1 รุกลูกค้าระดับกลาง 6 แสนราย บริหารสินทรัพย์รวม 2 ล้านล้านบาท พร้อมชูการให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง สร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% 

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ธนาคารกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ในการเป็น “Digital Bank with Human Touch เรารู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก” เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาองค์กรให้เป็นธนาคารที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นดาวเหนือนำทางธุรกิจภายใต้แผน 3 ปี คือ การเป็นดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางให้กับลูกค้า

เป้าหมายภายในปี 2568 SCB จะเป็นอันดับหนึ่งที่เป็นบัญชีธนาคารหลักของลูกค้า, มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (C/I) 35-40% (ในปี 2565 C/I อยู่ที่ 42%), จะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อ Green Financing เพื่อสนับสนุนเรื่อง ESG เป็น 1 แสนล้านบาท, เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Wallet Share) และในปี 2566 นี้ผลประกอบการธนาคารมี ROE มากกว่า 10%

SCB จะก้าวสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว จากแนวโน้มการใช้งานดิจิทัลของคนไทยปัจจุบันอยู่ในระดับสูง มีการใช้แอปพลิเคชันการเงินเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และประมาณ 94% ของคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน และมีความต้องการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงต้องยกระดับบริการสู่ธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มตัว และมอบบริการการเงินดิจิทัลให้ได้อย่างครบวงจร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านบริการเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า ในการนี้ ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างบริหารงานเพื่อรวมงานทางด้าน ดิจิทัลแบงก์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และปฏิบัติการ เข้าไว้ด้วยกันภายใต้ความดูแลของ ผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology โดยทั้ง 3 ส่วนงานนี้เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับธนาคารให้เป็นธนาคารดิจิทัลอย่างครบวงจร ไม่เพียงแต่ระบบการให้บริการเท่านั้น แต่จะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ และการเติบโตให้แก่ธนาคารต่อไปในอนาคต รวมถึงตั้งงบลงทุนด้านนี้ในช่วง 3 ปีจำนวน 7,000-10,000 ล้านบาท

จากการที่มีบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาแข่งขันในภาคธุรกิจการเงินมากขึ้น แต่ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ดีเท่ากับธนาคารพาณิชย์ มีเพียง 5% ของบริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาแข่งขันในภาคการเงินที่ผลการดำเนินงานมีกำไร แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีกำไร และฐานเงินทุนที่แข็งแรงอยู่แล้ว

เมื่อเปรียบเทียบความถี่ในการใช้งาน และเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า ผ่านแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ และเว็บไซต์ (เป็นประจำทุกสัปดาห์) ของธนาคารเป็นสัดส่วน 52% ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาในภาคธุรกิจการเงินเป็นสัดส่วน 22% แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในธนาคารพาณิชย์มากกว่า

SCB จะเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในด้าน “การบริหารความมั่งคั่ง” (Wealth Management) เนื่องจากธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตสูง ข้อมูลสินทรัพย์ที่มีการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth AUM)ของลูกค้าระดับกลางในเอเชีย จะเพิ่มจาก 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายใน 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มนี้ถึง 2.0-2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รวม ฐานลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงมั่งคั่งระดับสูง SCB มีความพร้อมด้านบุคลากร ผลิตภัณฑ์ และพันธมิตร ส่วนการแข่งขันถือว่าไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดในด้านการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)

นายกฤษณ์กล่าวว่า ปัจจุบัน SCB มีลูกค้า Wealth Management จำนวน 4 แสนราย สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการรวม 1.6 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าในปี 68 จะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 6 แสนราย และมี Wealth AUM เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท สำหรับลูกค้าบุคคลเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 2 ล้านบาท

“ธนาคารกำลังริเริ่มโครงการในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าในวงกว้าง (Digital Wealth) โดยไม่เน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งที่มีอยู่แล้ว แต่มุ่งไปที่กลุ่ม Emerging Wealth ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและมีความต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่งระยะแรกเริ่ม อาจยังมีสินทรัพย์ไม่มากนักแต่มีความต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งมักจะวางแผนการลงทุนด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ธนาคารจึงต้องการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างข้อเสนอแบบรู้ใจเฉพาะบุคคล (Hyper-personalized offer) ที่จะกระตุ้นให้ลูกค้ามองเห็นโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งที่เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ โดยจะเป็นโครงการต้นแบบของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” นายกฤษณ์กล่าว

SCB จะเป็นที่หนึ่งด้านการมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง (Omni-Channel) ให้กับลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าต้องการประสบการณ์ที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ลูกค้าต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินจากทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่องทาง ลูกค้าเจเนอเรชั่นต่างๆ ยังมีช่องทางที่คุ้นเคยแตกต่างกัน การทำให้บริการในทุกช่องทางสามารถเชื่อมถึงกันได้อย่างไร้รอยต่อ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการชนะใจลูกค้าทุกวัยในสภาพตลาดปัจจุบัน

นายกฤษณ์กล่าวว่า ธนาคารเชื่อว่าพลังแห่งเทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับผ่านช่องทางหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของ Digital Bank with Human Touch คือ ประสบการณ์ที่ดี ณ จุดให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารที่มีอย่างหลากหลาย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสบการณ์การให้บริการโดยการขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้าทั้งในโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่องทางที่คุ้นเคย โดยลูกค้าทุกกลุ่มจะต้องได้รับประสบการณ์อย่างไร้รอยต่อผ่านช่องทางบริการที่หลากหลายด้วยมาตรฐานเดียวกันทุกช่องทาง

ปัจจุบันธนาคารมี 766 สาขา ตู้เอทีเอ็มมากกว่า 1 หมื่นตู้ พนักงานให้บริการลูกค้ากว่า 1 หมื่นคน มีแอปพลิเคชั่น SCB Easy มีลูกค้าใช้บริการธนาคารผ่านแอป 80%

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงความแข็งแกร่งในการให้บริการแบบครบวงจร หรือ Universal Bank โดยครองความเป็นผู้นำตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ อันดับหนึ่งในสินเชื่อที่อยู่อาศัย อันดับหนึ่งในธุรกิจ Bancassurance นอกจากนี้ ยังเป็น Top 3 ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อลูกค้ารายย่อย และทางด้านการบริหารความมั่งคั่ง รวมทั้งยังเป็น Top 3 ธนาคารที่มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันทางเงินมากที่สุดในประเทศ

ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเติบโตยั่งยืน จากนี้ไปธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่ออย่างค่อยเป็นค่อยไปและการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง และให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจผันผวน พร้อมด้วยการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับนโยบายความยั่งยืนในทุกๆ มิติ ทั้งการให้บริการลูกค้า และการบริหารงานภายใน โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวมกันทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล 9.8 แสนล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.1 แสนล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ 9.2 แสนล้านบาท

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการขยายพอร์ตสินเชื่อควบคู่กับการรักษาคุณภาพ โดยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อประมาณไม่เกิน 5% และสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 40% อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจรตามแผน 3 ปี ในปี 68 ธนาคารมีเป้าหมายจะลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ต่ำกว่า 40% รวมถึงการเป็นอันดับ 1 wealth wallet share พร้อมผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตามเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (ESG) ด้วยยุทธศาสตร์ดาวเหนือของธนาคารจะผลักดันให้ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ Digital Bank with Human Touch สร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยบริการที่รู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล และรู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก และก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าทุกกลุ่มในปี 68

 

#SCB #DigitalBankWithHumanTouch