SCB CIO มองศก.โลกเสี่ยงถดถอยลดลง แนะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง-Asian REITs

HoonSmart.com>> SCB CIO มองเศรษฐกิจโลกปี 2566 แนวโน้มแค่ชะลอตัวแต่ไม่ถดถอย ขณะที่การฟื้นตัวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในปี 67 แนะนำสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง และ Asian REITs อาศัยจังหวะตลาดพันธบัตรผันผวนจากประเด็นมุมมองดอกเบี้ยที่แตกต่างกันของตลาดกับสิ่งที่ธนาคารกลางหลักจะดำเนินการ ขณะที่การลงทุนในหุ้น ยังเน้น “ตลาดหุ้นจีนและไทย” ที่ได้อานิสงส์การเปิดเมืองเปิดประเทศ เป็นหลัก

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มจะแค่ชะลอตัวแต่ไม่ถดถอย และจะฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไปในปี 2567 โดยอ้างอิงจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ติดลบ (เศรษฐกิจโลกหดตัว) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย และเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตในช่วงปี 2566-2567 ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ในช่วงปี 2543-2562)

สำหรับปัจจัยบวกหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลก สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ ประกอบด้วย 1) การเปิดเมืองและเปิดประเทศของจีน 2) เศรษฐกิจยุโรปมีความแข็งแกร่งและสามารถจัดการกับวิกฤติพลังงานได้ดีกว่าคาด 3) ตลาดแรงงานทั่วโลกค่อนข้างแข็งแกร่งบวกกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (pent up demand) หลังเปิดเมืองเปิดประเทศ ทำให้อุปสงค์ในประเทศส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ 2) ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่แม้ชะลอลง (disinflation) แต่อาจชะลอช้าทำให้ดอกเบี้ยต้องค้างในระดับสูงนาน 3) ความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะจากความแตกต่างเรื่องดอกเบี้ยระหว่างสิ่งที่ตลาดคาดและสิ่งที่ธนาคารกลางหลักจะทำ และ 4) ความเปราะบางของภาครัฐ ธุรกิจ และครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง

สำหรับท่าทีล่าสุดของธนาคารกลางหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยช้าลงแต่ยังคงส่งสัญญาณขึ้นต่อจนกว่าจะมีสัญญาณชัดว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย 2% ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงต่อตามที่ตลาดคาดไว้ และประกาศเริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QT) ในเดือนมีนาคมนี้ มีเพียงธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่เริ่มส่งสัญญาณใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจมีสัญญาณหดตัว

ดร.กำพล กล่าวว่า SCB CIO วิเคราะห์ว่าความแตกต่าง ระหว่างสิ่งที่ตลาดคาดกับสิ่งที่ธนาคารกลางจะทำด้านดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินระยะข้างหน้า ล่าสุดตลาดเริ่มปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยสูงสุดปี 2566 ขึ้น จาก 4.75% เป็น 5.25% และการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นช้าลง จากปลายไตรมาส 2 ไปเป็นปลายไตรมาส 3 ขณะที่ถ้อยแถลงและ Dot plot ล่าสุดของ Fed จากการประชุมเดือนธันวาคม 2565 Fed ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่ยังขึ้นต่อและยังไม่มีการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปี 2566 SCB CIO ยังคงมุมมอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps แตะระดับสูงสุดที่ 5.25% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2566

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ประเมินว่า ยังเป็นโอกาสดีที่จะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง โดยความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลง เงินเฟ้อที่ลงช้าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และการขึ้นดอกเบี้ยต่อของ Fed ในช่วงครึ่งปีแรก ยังทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังมีการเร่งขึ้นในช่วงสั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง (Positive) SCB CIO วิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวในช่วงที่เหลือของปี ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) การคาดการณ์เงินเฟ้อ ช่วงหลังชะลอลงจากราคาอาหารและพลังงานที่ลดลง 2) ตลาดแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยตลาดแรงงานยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจแม้มีโอกาสถดถอยน้อยลงมากแต่ยังคงชะลอตัว เราเชื่อว่า ในภาพรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวน่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่การลดลงอย่างมีนัย น่าจะถูกเลื่อนออกไปเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปีจะยังเป็นช่วงที่น่าสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูงอยู่

นอกจากนี้ กลุ่มกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในเอเชีย หรือ Asian REITs ก็มีความน่าสนใจมากขี้น จากการเปิดเมืองเปิดประเทศของจีนและอาเซียน ส่งผลบวกต่ออัตราการเช่าและค่าเช่า (Occupancy rates and rental rates ) ในอนาคตของ REITs ทั้งในกลุ่มโรงแรม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Retail and Industrial & warehouse) โดยเฉพาะในไทยและสิงคโปร์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก โดย SCB CIO ประเมินว่าการกลับมาเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยและสิงคโปร์ขยับขึ้นในช่วงสั้นนี้ เป็นจังหวะดีที่จะเข้าทยอยสะสม REITs ของไทยและสิงคโปร์

ดร.กำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในหุ้นยังคงมุมมอง Neutral เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากทั้งต้นทุนทางการเงินที่สูง และเริ่มเห็นกำไรเติบโตติดลบ โดยผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ที่ออกมาล่าสุดของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และเวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่า 1) มีการหดตัวของอัตราการเติบโตกำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทำให้เกิดความเสี่ยง earning recession (กำไร YoY หดตัว 2 ไตรมาสติด) และ 2) การลดลงของจำนวนบริษัทที่มีกำไรดีกว่าคาด (earnings’ positive surprises) ในขณะที่การปรับลดคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นส่วนใหญ่เริ่มชะลอลง สะท้อนมุมมองที่ดีขึ้นต่อผลประกอบการในอนาคตหลังความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยลดลง แต่การคาดการณ์กำไรที่ดีขึ้นอาจทำให้โอกาสที่กำไรจะดีกว่าคาดทำได้ยากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

ล่าสุด SCB CIO ได้ปรับมุมมองหุ้นยุโรปขึ้นเป็น Neutral จากการจัดการผลกระทบวิกฤติพลังานที่ทำได้ดีกว่าคาดทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดตามไปด้วย ปรับมุมมองหุ้นอินโดนีเซียลงเป็น Neutral จาก ราคาถ่านหินซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักลดลง อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุด และ มูลค่า (valuation) ที่เริ่มกลับมาตึงตัวโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดย SCB CIO ยังเน้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีน (A-share: Positive; H-share: Slightly Positive) และตลาดหุ้นไทย (Slightly Positive) จากอานิสงส์การเปิดเมืองเปิดประเทศที่จะมีต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการ รวมถึง valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ