HoonSmart.com>>คดีประวัติศาสตร์ก๊วนบริษัท มอร์ รีเทิร์น (MORE) ปล้นโบรกเกอร์มากกว่า 10 แห่งเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในเครือธนาคารพาณิชย์ โดนกันถ้วนหน้า เช่น บล.เกียรตินาคินภัทร บล.กรุงศรีอยุธยา บล.เอสซีบี เอ็กซ์ ส่งผลกระทบต่อหุ้นของธนาคารแม่ เห็นชัดเจนเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ราคาร่วงแรงผิดปกติ หลังจากคณะกรรมการธุรกรรมปปง.มีมติยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 59 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 4,470 ล้านบาท
บริษัท เอสซีบี เอกซ์(SCB) ปรับตัวลงแรง 3 บาทหรือ -2.90% ปิดที่ 100.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายมากถึง 3,002 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)ปิดที่ 67.75 บาท ลดลง 0.50 บาทหรือ -0.73% มูลค่าซื้อขาย 463 ล้านบาท ส่วนธนาคารกรุงเทพ (BBL) กลับบวกแรง 3 บาทหรือ +1.86% ปิดที่ 164 บาท เนื่องจากไม่มีลูกค้าชักดาบค่าซื้อหุ้น MORE ทำให้ดัชนีหุ้นลดลง 4.60 จุด ปิดที่ระดับที่ 1,664.57 จุด โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 2,441.29 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคดี MORE บริษัทหลักทรัพย์จะต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเต็ม 100% หรือไม่ เพราะไม่มีหลักการลงบัญชีที่ชัดเจน คงขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์
นอกจากนี้ การซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ ปปง.มีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จะถือว่าเป็นโมฆะกรรม หรือโมฆียกรรม เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เริ่มซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องรอให้ศาลตัดสินในที่สุด
“ผลกระทบจากกรณีผู้ซื้อหุ้น MORE เบี้ยว ไม่มีเงินจ่าย ส่วนค่าขายหุ้น ก็ถูกอายัด ยังไงบริษัทหลักทรัพย์ต้องมีส่วนรับผิดชอบบ้าง โดยเฉพาะบริษัทที่มียอดซื้อมากกว่าค่าขายหุ้น บางแห่งต้องรับผิดชอบส่วนต่าง 200-300 ล้านบาท แม้ว่าเป็นจำนวนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับฐานะการเงินของธนาคารแม่ แต่ก็มีผลกระทบทางจิตวิทยาและผลดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”แหล่งข่าวกล่าว