ธ.กรุงเทพ แนะ 5 เคล็ด(ไม่)ลับ ลดภัยไซเบอร์ เงินสะพัด-ปริมาณธุรกรรมสูงกว่าปกติ ช่วงปีใหม่

HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพ แนะ 5 แนวทาง ใช้ดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างสบายใจ สกัดภัยทางไซเบอร์ ยึดหลัก “ช้าแต่ชัวร์” อย่ารีบตัดสินใจ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อ ชี้มิจฉาชีพหันโจมตีจุดอ่อนเรื่องพฤติกรรม-ประมาท ย้ำเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ เหตุเงินสะพัด-ปริมาณธุรกรรมสูงกว่าปกติ

นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้จัดการจัดการความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกใช้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางออนไลน์และดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และลดการใช้เงินสด ซึ่งธนาคารได้มุ่งมั่นพัฒนาบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานดังกล่าว รวมถึงการให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าในด้านความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมบนหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพบว่า ภัยทางไซเบอร์ที่พบค่อนข้างมากช่วงที่ผ่านมา จะพบได้บ่อยใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.) การชักจูงเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลด้วยฟิชชิงอีเมลหรือ SMS ที่มักมีลิงก์ให้กรอกข้อมูล 2.) การหลอกล่อให้ทำตามที่ต้องการ เช่น การดาวน์โหลดโปรแกรม 3.) การเข้าถึงเครื่องที่ใช้งานทางช่องโหว่ 4.) แอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเร่งรับบังคับให้ทำตาม 5.) ส่งเอกสารที่มีมัลแวร์มากับเมล

ทั้งนี้ ในฐานะธนาคารที่มีความมุ่งมั่นในบทบาทการเป็น “เพื่อนคู่คิด” ให้แก่ลูกค้า ธนาคารขอแนะนำ 5 แนวทางเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ทุกการทำธุรกรรมของลูกค้า

– ต้องมั่นใจว่าอัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชันปัจจุบันอยู่เสมอ
– ติดตั้งเครื่องมือป้องกันภัยคุกคาม เช่น โปรแกรมป้องกันไวรัส
– ไม่ติดตั้งซอฟต์แวร์จากลิงค์ที่แนบมากับเมลหรือ SMS
– ไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล รหัส OTP หรือรหัสผ่านแก่ผู้อื่น
– เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมทุกขั้นตอน

นายกิตติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่าแฮกเกอร์ มุ่งเน้นการโจรกรรมไปยังผู้ใช้งานโดยตรง เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีความรู้ ประสบการณ์และความระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้งานแตกต่างกัน ซึ่งแฮกเกอร์จะอาศัยช่องโหว่หรือจุดอ่อนของพฤติกรรมผู้ใช้งานในการโจมตี โดยใช้เทคนิคการโน้มน้าวเหล่านี้

ใช้ความเร่งด่วนของเหตุการณ์ มากระตุ้นให้รีบตัดสินใจ เช่น การทำรายการในเวลาที่กำหนด มีเหตุฉุกเฉินที่ต้องทำรายการเลยทันที

หลอกลวงให้เชื่อและชักจูงให้ไขว้เขวตาม เช่น การกรอกข้อมูล ซึ่งปกติใช้เพียง User name และ Password แต่หลอกลวงหรือชักจูงว่าต้องการข้อมูลมากกว่านั้น

ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและหว่านล้อมให้หลงเชื่อคำหลอกลวง อาทิ บุตรหลานประสบเหตุ ต้องใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาลโดยด่วน

อ้างถึงองค์กรผู้มีอำนาจ เช่น กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษี หรือ ใบเรียกเก็บค่าปรับจราจร เป็นต้น

“สิ่งสำคัญ! ที่ผู้ใช้งานควรเพิ่มความใส่ใจ คือ การวิเคราะห์และเข้าใจในตัวเองว่า เราเป็นคนแบบไหน มีพฤติกรรมแบบใด เช่น เมื่อได้รับข้อความจากกลุ่มเพื่อน แล้วส่งต่อเลย โดยไม่ได้อ่านให้ละเอียด หรือ ตัดสินใจเร็วด้วยความประมาท เมื่อเข้าใจตัวเองรวมถึงพฤติกรรมของตัวเราแล้ว พฤติกรรมสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ คือ การลดความเร็วในการตัดสินใจ และ การกระทำที่เรียกว่า ‘ช้าแต่ชัวร์’ คือ ตรึกตรองและใคร่ครวญวัตถุประสงค์ก่อนทุกครั้ง ทบทวนอีกรอบ จะช่วยให้สามารถพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงเทศกาลต่าง ๆ ที่เป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย มีเงินสะพัดและปริมาณธุรกรรมที่สูง ดังนั้น ผู้บริโภคก็ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน” นายกิตติ กล่าว