HoonSmart.com>>ก.ล.ต. ตั้งคณะทำงานแก้กฎหมาย พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล นิยามประเภทสินทรัพย์แต่ละกลุ่มให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าควรจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด คาดได้ข้อสรุปไตรมาสแรกของปีหน้า เผย ธปท.อาจเข้ามาดูแล คริปโตเคอร์เรนซี ขณะที่ สคบ.อาจจะกำกับดูแลโทเคนที่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้า และบริการ ส่วน ก.ล.ต.กำกับดูแลโทเคนที่ระดมเงินทุน เผยมูลค่าซื้อขายสะสมจากต้นปี เทรดคริปโตฯผ่านศูนย์ซื้อขายในไทยรวม 9 แสนล้านบาท ปัจจุบันเทรดวันละ 2 พันล้านบาท
นายศักรินทร์ ร่วมรังสี รองเลขาธิการ ดูแลสายกฎหมายและสายบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศใช้ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 2561 ในขณะนั้นจุดประสงค์การออกกฎหมายเพื่อป้องกันความเสียหาย อันจะเกิดจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลไปในทางหลอกลวง การฉ้อโกง รวมไปถึงแชร์ลูกโซ่ และอาจมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสนับสนุนธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การพนัน การฟอกเงิน
ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาทบทวนแก้ไขกฎหมาย พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความทันสมัยต่อผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลที่พัฒนารูปแบบหลากหลายมากขึ้นจากที่ผ่านมา
คณะทำงานพิจารณาทบทวนการแก้กฎหมายมีนายศักรินทร์ ร่วมรังษี (รองเลขาธิการฯ ก.ล.ต.) เป็นประธานคณะทำงาน และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย (1) กระทรวงการคลัง (2) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (3) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (4) ธนาคารแห่งประเทศไทย (5) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (6) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย แบ่งเป็น 1. Cryptocurrency ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการ อาทิ Blank coin เช่น Bitcoin, Ethereum และ Stable coin เช่น Tether, USD Coin
2. Utility tokens ใช้แลกสินค้า แลกใช้บริการ เช่น line coin, digital voucher การแปลงสิ่งต่างๆเป็น token เช่น carbon credit, งานศิลปะ, การ์ดนักกีฬา (NFT)
3. Investment token วัตถุประสงค์เพื่อระดมทุน เพื่อการลงทุน ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะกำกับดูแลโดยกฎหมายหลักทรัพย์ ในไทยมีออกมาบ้างแล้ว เช่น สิริ ฮับ โทเคน, Destiny token (ออกโดยผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส) มีผู้สนใจที่จะออก token ที่อยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ 20 ราย
นายศักรินทร์กล่าวว่า คณะทำงานจะพิจารณาปรับปรุงนิยามสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทให้ชัดเจน ไม่ให้มีปัญหาในการตีความ อาทิ Cryptocurrency ที่มีการซื้อขายคล้ายสกุลเงินตรา เพียงแต่เป็นสกุลเงินในโลกดิจิทัล จะกำกับดูแลให้เหมือนการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศหรือไม่ และมีความเกี่ยวข้องกับระบบชำระราคา (Payment) อาจจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท.หรือไม่ ส่วน Utility tokens ที่มีการใช้แลกสินค้า แลกใช้บริการ อาจต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ ส่วน Investment token ใช้เพื่อการระดมทุน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ก็อาจปรับแก้ไขให้อยู่ใน พรบ.หลักทรัพย์ฯได้ต่อไป
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 หรือ 9 มกราคมจะมีการนัดประชุมคณะทำงาน และคาดว่าภายในไตรมาสแรกของปีหน้าจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าสินทรัพย์ใดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด เมื่อได้ข้อสรุปก็จะติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ สคบ. และ ปปง. เป็นต้น
ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทดังนี้
ศูนย์ซื้อขาย (Exchange) ให้บริการระบบซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล 9 ราย
นายหน้าซื้อขาย (Broker) ให้บริการส่งผ่านคำสั่งซื้อขายของผู้ลงทุนไปยังศูนย์ซื้อขาย หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่น 9 ราย
ผู้ค้า (Dealer) ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลตามความต้องการของลูกค้า 2 ราย
ผู้จัดการเงินทุน (Asset Management) ให้บริการรับบริหารเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าเฉพาะราย (Private Fund) 2 ราย
ที่ปรึกษา (Advisor) ให้บริการคำปรึกษา การประเมินมูลค่า การแนะนำการลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้า 3 ราย
ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Custodian) ให้บริการรับฝาก เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบริหารจัดการ Cryptographic key โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือบางส่วน ปัจจุบันยังไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาต อยู่ระหว่างเชิญชวนสถาบันการเงิน ธนาคารเข้ามาขอใบอนุญาต
นายศักรินทร์กล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่หาลูกค้าในไทย ระดมเงินทุนในไทย ต้องขอใบอนุญาตตามประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. หากผู้ประกอบธุรกิจอยู่ในต่างประเทศไม่ได้มาหาลูกค้าในไทย หรือโฆษณาเป็นภาษาไทย ก็อยู่นอกเหนือการบังคับใช้กฎหมาย นักลงทุนต้องพิจารณาความเสี่ยงเอง เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ เป็นต้น
จากข้อมูล ณ เดือน ต.ค.65 ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย 9 ราย มีจำนวนลูกค้ารวมกัน 3 ล้านบัญชี จำนวนบัญชีที่มีความเคลื่อนไหว(Active) 7.2% มูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 7 พ.ย.65 เท่ากับ 989,040 ล้านบาท เหรียญที่นิยมซื้อขายสูงสุด คือ Tether 17%, Bitcoin 11%, Ethereum 8%
มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาในเดือน ม.ค.-พ.ค. มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อเดือน และลดลงมาต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือนในช่วง มิ.ย.-ก.ย. สำหรับในเดือน ต.ค.มูลค่าการซื้อขายลดลงเหลือต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ซึ่งการลดลงของมูลค่าการซื้อขายดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางของราคา Bitcoin ที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากต้นปี มูลค่าการซื้อขายในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อวัน
#พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล #ก.ล.ต. #Bitcoin #Cryptocurrency