HoonSmart.com>> กองทรัสต์ SSTRT คาดเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนครั้งที่ 1 จำนวน 36.53 ล้านหน่วย มูลค่าไม่เกิน 190 ล้านบาท ในเดือนธ.ค.นี้ เตรียมนำเงินลงทุนในกรรมสิทธิ์ที่ดินและคลังเก็บเอกสาร 4 อาคาร รับแนวโน้มธุรกิจจัดเก็บเอกสารเติบโต ชูจุดเด่นการจัดเก็บเอกสารที่ใช้เทคโนโลยีคลังเอกสารอัตโนมัติ AS/RS ที่ทันสมัย คาดผลตอบแทนจากเงินปันผล 7%
นายเอกชัย ลิ้มศิริวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอสที รีท แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์ศรีไทย (SSTRT) เปิดเผยว่า หลังจากกองทรัสต์ SSTRT ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขออนุมัติการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนครั้งที่ 1 จำนวน 36.53 ล้านหน่วย มูลค่ารวมไม่เกิน 190 ล้านบาท ซึ่งตามขั้นตอนหากก.ล.ต.อนุมัติในเดือนพ.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยทรสัต์เดิมและผู้ลงทุนทั่วไปได้ประมาณเดือนธ.ค.2565 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทรัสต์เพิ่มขึ้นจาก 1,549 ล้านบาท เป็น 1,700 ล้านบาท ถือเป็นกองทรัสต์รายเดียวในประเทศไทยลงทุนในสินทรัพย์ประเภทคลังเอกสาร
สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ กองทรัสต์ SSTRT จะนำไปลงทุนในคลังเอกสารในโครงการคลังเอกสารของบริษัท ทรัพย์ศรีไทย (SST) ประกอบด้วย ที่ดิน 4 ไร่ 1 งาน 68.9 ตารางวาและอาคารคลังเอกสารจำนวน 4 อาคาร พื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร รวมถึงทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทรัพย์สินที่จะลงทุนเพิ่มเป็นประเภท Freehold (มีกรรมสิทธิ์) 100% ส่งผลให้กองทรัสต์ SSTRT มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คลังเอกสารรวมเป็น 18 อาคาร
นายเอกชัย กล่าวว่า คลังเก็บเอกสาร ทั้ง 4 อาคาร เป็นอาคารเก็บรักษาเอกสารสำคัญ (Document Storage Services Center) ให้แก่ บริษัท ห้างร้าน และหน่วยราชการต่างๆ เช่น เอกสารทางด้านบัญชี เอกสารทางการเงิน เอกสารด้านนิติกรรม ตลอดจนเอกสารข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เก็บเอกสารอย่างน้อยประมาณ 5-10 ปี ดังนั้นจากปริมาณธุรกรรมและเอกสารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบังคับของกฎเกณฑ์ในของแต่ละบริษัท ส่งผลให้ SST ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินจึงอนุมัติจำหน่ายทรัพย์สินให้กองทรัสต์และจะเช่าทรัพย์สินกลับมาต่อ ระยะเวลาเช่า 10 ปี นับตั้งแต่ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ให้แก่กองทรัสต์ SSTRT และมีสิทธิต่อสัญญาเช่าอีกคราวละ 3 ปี
สำหรับศักยภาพและจุดเด่น ของคลังเก็บเอกสารของ SST คือ การนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้ง ระบบการจัดเก็บเอกสารอัตโนมัติ AS/RS ที่ทันสมัย มีการจัดเก็บเอกสารในอาคารศูนย์เก็บเอกสารขนาดใหญ่ มีระบบระบายอากาศภายในคลังเอกสารที่ดี มีชั้นสำหรับวางและจัดเก็บเอกสารเป็นชั้นเหล็กสำเร็จรูปแข็งแรงและทนทาน สะดวกต่อการจัดเก็บและดูแล มีระบบการควบคุมการจัดเก็บด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีรหัสบาร์โค้ดที่สามารถค้นหาเอกสารได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาและให้บริการ มีบริการนำส่งเอกสารที่ต้องการใช้ตรวจสอบได้รวดเร็ว ตลอดจนมีระบบควบคุมดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงด้วยกล้องวงจรปิด มีระบบการตรวจสอบเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล และป้องกันอัคคีภัย
นายเอกชัย กล่าวว่า การเข้าลงทุนเพิ่มในครั้งนี้มีการประมาณการการจ่ายประโยชน์ตอบแทนต่อหน่วยแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ภายหลังการลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เท่ากับ 0.4183 บาท/หน่วย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.65 ถึง วันที่ 30 พ.ย.66 คิดเป็นอัตราจ่ายประโยชน์ตอบแทน (Dividend Yield) 7% ซึ่งสูงจากที่ผ่านมาจ่ายเงินปันผลประมาณ 0.40 บาท/หน่วย ต่อปี
“ความผันผวนของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ไม่ผันผวนมาก ในขณะที่กองทรัสต์ SSTRT ซึ่งลงทุนในกรรมสิทธิ์ในคลังเก็บเอกสารและมีรายได้เช่าคงที่จาก SST มีกระแสเงินสดสามารถจ่ายเงินผลสม่ำเสมอ และมีศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากธุรกิจมีคู่แข่งไม่มาก จึงมีแผนขยายขนาดกองทรัสต์เพิ่มขึ้น หาก SST นำคลังเอกสารมาขายเข้ากองเพิ่มเติม จากปัจจุบันยังเหลืออีก 4 อาคาร มูลค่ารวม 200 ล้านบาท รวมทั้งไม่ปิดโอกาสที่จะลงทุนในสินทรัพย์นอกกลุ่ม SST”นายเอกชัย กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ แต่งประกอบ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน SST กล่าวว่า ปัจจุบัน SST และกลุ่มถือหน่วยทรัสต์ SSTRT อยู่ที่ 35% ที่เหลือเป็นนักลงทุนทั่วไปถือลงทุน เพื่อรับเงินปันผลระยะยาว
ส่วนเงินที่ได้จากการขายคลังเอกสาร 4 อาคารให้กองทรัสต์ SSTRT บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปใช้รองรับการพัฒนาพื้นที่ดิน 17 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะสร้างคลังจัดเก็บเอกสารทั้งหมดหรือพัฒนาเป็นพื้นที่จัดเก็บห้องเย็นให้เช่าหรือพัฒนาพื้นที่ให้เช่า
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจคลังเอกสารยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง จากความต้องการของผู้ประกอบแม้ปัจจุบันจะมีการให้บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในประเทศไทยยังคงมีการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่คสบคู่กันทั้งกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยังมีการใช้คลังจัดเก็บเอกสารอยู่ค่อนข้างมาก และยังมีความปลอดภัยมากกว่าการจัดเก็บในระบบอิเล็กทรอนิกส์