HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วง 125 จุด ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดปี 65 ด้าน ดัชนี Nasdaq บวก บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีพุ่งแตะ 4% หลังเจ้าหน้าที่เฟดต่างหนุนขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1% ในปีนี้ ด้านราคาน้ำมันดิบเด้ง 2% ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ส่วนใหญ่ปิดลบท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 27 กันยายน 2565 ปิดที่ 29,134.99 จุด ลดลง 125.82 จุด หรือ 0.43% ยิ่งลงไปลึกในตลาดขาลง(bear market) หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ แม้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,647.29 จุด ลดลง 7.75 จุด, -0.21% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปี 2022
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,829.50 จุด เพิ่มขึ้น 26.58 จุด, +0.25% จากการปรับขึ้น 0.3% ของหุ้นแอปเปิลและหุ้น Nvidia ที่เพิ่มขึ้น 1%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 4% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2010 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ4.3% สูงสุดในรอบ 15 ปี
ในช่วงแรกตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยดัชนีดาวโจนส์บวกถึง 398 จุดจากการให้ความเห็นในการเสวนาที่ลอนดอนของนายชาร์ล อีแวน ประธานเฟดสาขาชิคาโกว่า เฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1% ในปีนี้ แต่ยังไม่เห็นว่าตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งสัญญาณการรับรู้รับว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ซึ่งต่างจากเจ้าหน้าที่เฟดรายอื่นที่ระบุว่าไม่ลังเลที่จะสนับสนุนจุดยืนนโยบายการเงินตึงตัว
แต่ความเห็นจากเจ้าหน้าที่เฟดรายอื่นทำให้ตลาดอ่อนตัวลง โดยนายนีล คาชคารี ประธานเฟดจากมินนิอาโปลิส กล่าวว่า เขาและเจ้าหน้าที่อื่นๆเป็นหนึ่งเดียวกันในการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ “เรามุ่งมั่นที่ฟื้นฟูเสถียรภาพราคา แต่เราตระหนักว่า จากการที่นโยบายที่มักใช้เวลากว่าจะได้ผล มีความเสี่ยงที่อาจจะขึ้นมากเกินไป และผมคิดว่าเราดำเนินการด้วยจังหวะที่เหมาะสม”
นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า เงินเฟ้อสูงมากจนรับไม่ได้ และความไม่แน่นอนทำให้ต้องมีการตัดสินใจในนโยบายการเงิน เมื่อมีความไม่แน่นอนก็เป็นการดีกว่าที่จะดำเนินการในเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และการลงมือทำไว้ก่อนจะป้องกันการเกิดสถานการณ์เลวร้าย อย่างไรก็ตามจะรอบคอบในการประเมินข้อมูลเงินเฟ้อ โดยจะต้องเห็นเงินเฟ้อลดลงเดือนชนเดือนติดกันหลายเดือน
นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง จึงยังมีช่องให้เฟดคุมเงินเฟ้อได้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะดีดตัวขึ้นแตะที่ระดับ 4.5%
โรเบิร์ต พาฟวิก จาก Dakota Wealth กล่าวว่า นักลงทุนกังวลเกี่ยวทิศทางของดอกเบี้ยและ ภาวะเศรษฐกิจ
อาร์ต โฮแกน จาก B. Riley Financial กล่าวว่า ยังกังวลว่าเฟดขะขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปและทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
กระทรวงพาณิชย์รายงาน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนสิงหาคม เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 0.2% ส่วนยอดขายบ้านใหม่เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 28.8% สู่ระดับ 685,000 ยูนิต เมื่อเทียบรายเดือน ดีกว่า 500,000 ยูนิต ที่นักวิเคราะห์คาด แต่เมื่อเทียบรายปี ลดลง 0.1%
หุ้นกลุ่มเรือสำราญปิดบวก โดยหุ้นนอร์วีเจียน ครูซไลน์เพิ่มขึ้น 6.9% หุ้นคาร์นิวาลเพิ่มขึ้น 6.7%
หุ้นกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน WTI โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 2.1% หุ้นออคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 1.2% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน เพิ่มขึ้น 1.9%
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน แต่กลุ่มน้ำมันก๊าซเพิ่มขึ้น 1.6% นักลงทุนกังวลต่อราคาน้ำมันที่กลับมาเพิ่มขึ้น และยังจับตาเงินปอนด์ รวมทั้งตลาดตราสารหนี้อังกฤษ
เงินปอนด์ฟื้นตัว 1% เมื่อวานนี้ซื้อขายที่ 1.083 ต่อดอลลาร์ หลังจากที่ร่วงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 388.24 จุด ลดลง 0.51 จุด, -0.13%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,984.59 จุด ลดลง 36.36 จุด, -0.52%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,753.82 จุด ลดลง 15.57 จุด, -0.27%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,139.68 จุด ลดลง 88.24 จุด, -0.72%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 78.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 2.21 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 86.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล