HoonSmart.com>>เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ลั่นเร่งยาวปีหน้า 4.6% บอนด์ยีลด์ 2 ปีพุ่ง 4.1% กดดันหุ้นสหรัฐ-ยุโรป-เอเชียดิ่ง ส่วนไทยเก่ง+0.72% ต่างชาติซื้อกว่า 2 พันล้านบาท ท่ามกลางค่าเงินอ่อน-ผันผวนมาก จนญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซง เงินบาทปิด 37.33 บาท รมว.คลัง-ธปท.หารือ ปล่อยให้ธปท.ตัดสินใจ จับตาพรุ่งนี้ ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน 4 ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด ส่วนตุรเคียลด 1%
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ตามที่คาดไว้และมีการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ว่า ดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย ( terminal rate) จะแตะ 4.6% ในปี 2566 เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ยังสูง ซึ่งเป็นระดับที่จะเฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ย และเฟดยังส่งสัญญาณว่ามีแผนที่จะยังดำเนินนโยบายเชิงรุก ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 4.4% ในสิ้นปีนี้
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ขึ้นครั้งละ 0.75%ในรอบ 4 เดือน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย fed fund rate ขึ้นไปที่ 3.0%-3.25% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 จาก 2.25%- 2.5% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นไปที่ 4.1% จากที่แตะ 3.99% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 วันก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับขึ้นมาที่ 3.6% สูงสุดของวัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันนี้ (22 ก.ย.65) ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากเงินบาทอ่อนค่าลง มองว่าเงินบาทผันผวนมากๆ โดยธปท.ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ทางคลังเองก็ดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการติดตามและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ปัญหาความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นหน้าที่ของ ธปท.
ส่วนการตัดสินใจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่นั้นเป็นการพิจารณาของธปท. ซึ่งให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ธปท.ต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อ 2.เงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจุบันก็ไหลออกบ้าง แต่ไม่มาก และ 3.เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกิดจากราคาพลังงาน และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมาอยู่ที่ค่ากลาง 90-95 ดอลลาร์/บาร์เรล ยังรับมือได้และรัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือในภาคประชาชน
“ปีนี้หลายสำนักคาดหวังเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-3.5% ซึ่งเป็นไปได้ เพราะการส่งออกโตต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน โดยเฉพาะสินค้าอาหารหมวดอาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 8 ล้านคน ซึ่งเป็นไปได้ ปัจจุบันเข้ามาแล้ว 5 ล้านคน “รมว.คลัง กล่าว
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.33 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวค่อนข้างกว้างในกรอบ 37.24 -37.45 บาท/ดอลลาร์ และมีความผันผวนอย่างมาก ซึ่งในช่วงบ่ายหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 และยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคกลับมาแข็งค่าได้บ้าง ประกอบกับมีการขายดอลลาร์ คาดว่าวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.)เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 37.30 -37.50 บาท/ดอลลาร์
“BOJ ยืนยันใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ สวนทางกับการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐขยับกว้างมากยิ่งขึ้น”
ขณะเดียวกันธนาคารกลางของ 4 ประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟด ได้แก่ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 0.5% ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี และเงินปอนด์อ่อนค่า
ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวลง นำโดยตลาดสหรัฐทั้ง 3 แห่ง ดิ่งลงแรง -1.7% ส่งผลต่อเนื่องถึงตลาดยุโรปและเอเชีย ส่วนตลาดหุ้นไทยเปิดลดลงตามเพื่อนบ้าน แต่ภาคบ่ายมีแรงซื้อหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ดัชนีปิดที่ระดับ 1,645.29 จุด เพิ่มขึ้น 11.84 จุด หรือ +0.72% มูลค่าซื้อขาย 67,375.23 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 2,306 ล้านบาท ด้านนักลงทุนไทยขาย 1,221.90 ล้านบาท และสถาบันขาย 821.68 ล้านบาท
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นรีบาวด์ โดยดัชนีฯเคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแกว่งไซด์เวย์ทั้งในแดนบวก-ลบ เช่นเดียวกับตลาดในยุโรปที่เทรดบ่ายนี้ หลังจากตอบรับเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัว อย่างหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างหุ้นในกลุ่มธนาคาร, หุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวลงหลังจากมีความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 23 ก.ย.2565 ตลาดคงจะแกว่ง Sideway Up โดยมีแนวรับ 1,634-1,629 จุด ส่วนแนวต้าน 1,655-1,660 จุด
ด้านการการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันพรุ่งนี้(23 ก.ย.2565) ให้จับตาว่าจะมีการให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และปิดศูนย์บริหารโควิด 9 แห่ง หากเห็นชอบจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป ยิ่งส่งผลดีต่อภาคท่องเที่ยวและบริการรวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ