SFLEX จับมือบจ. ปิดดีลเทคฯแพคเกจจิ้งเวียดนาม Q3

HoonSmart.com>>”สตาร์เฟล็กซ์” ร่วมกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เทคโอเวอร์ธุรกิจแพคเกจจิ้งในเวียดนาม เล็งปิดดีลในไตรมาส 3/65  เดินหน้าอีก 2-3 ดีลทั้งเทคโอเวอร์-สร้างเอง โครงการ”กรีน ฟิลด์”เป็นธุรกิจแพคเกจจิ้ง Specific ทำร่วมอีก 2 พาร์ทเนอร์ มี TU ร่วมด้วย  วางงบลงทุนไว้  125-150 ล้านบาท/บริษัท ส่วนอีกโปรเจกบริษัทจะเปิดทางให้ต่างชาติเข้าถือหุ้น SFLEX  ทำ”ฟิล์มต้นน้ำ”พร้อมเคลียร์ชัดเหตุเลิกขุดเหมืองบิทคอยน์

นายสมโภชน์ วัลยะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) เปิดเผยว่า  บริษัทอยู่ระหว่างการซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทฯได้พันธมิตรที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ร่วมซื้อกิจการด้วย อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด เช่น การจ่ายเงินลงทุน ทางบริษัทอยากจะจ่ายในรูปเงินยูโรแทนดอลลาร์สหรัฐ เพราะเมื่อเทียบกับเงินบาทไม่สูงมาก  ขณะนี้เงินบาทอ่อนค่ามาก คาดว่าจะปิดดีลได้ภายในไตรมาส 3/2565

นอกจากนี้ทางบริษัทจะมีอีก 2-3 ดีลในปีนี้ เป็นทั้งดีลเทคโอเวอร์ และเริ่มสร้างเอง ซึ่งบริษัทคาดหวังจะยกระดับการแข่งขันธุรกิจแพคเกจจิ้งของไทยให้ขึ้นมาเทียบเท่ากับอาเซียน  ทำให้การแข่งขันอุตสาหกรรมนี้ดีขึ้นมาก โครงการต่อไปจะเห็น”กรีน ฟิลด์”ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันในการสร้างโมเดลใหม่ เป็นธุรกิจแพคเกจจิ้ง Specific  ทำร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) แล้ว และอาจจะเพิ่มผู้ร่วมลงทุนด้วยอีก 1 ราย ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมลงทุนต่างเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า”สตาร์เฟล็กซ์” วางงบลงทุนไว้ที่ 125-150 ล้านบาทต่อบริษัทที่เข้าร่วมลงทุน  ขณะนี้ได้มีการซื้อที่ดินแล้วที่สินสาคร และอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน ด้านเครื่องจักรก็มีการเตรียมการแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 โครงการในปีนี้เป็นการเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน”สตาร์เฟล็กซ์”ได้บางส่วน เพื่อมาร่วมกันทำ”ฟิล์มต้นน้ำ”ซึ่งเป็นฟิล์มที่สามารถรีไซเคิลได้ และย่อยสลายได้ด้วย จากปัจจุบันที่บริษัทผลิตอยู่เป็นฟิล์มทั่วไป พร้อมเล็งลูกค้า TU ที่มีการใช้ฟิล์มชนิดพิเศษ 700-800 ล้านบาทอยู่แล้ว

“ตอนนี้บริษัทที่ทำฟิล์มต้นน้ำจะมีบริษัท เอ.เจ.พลาสท์ (AJ) และบริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ (TFI) เท่านั้นที่ทำ แต่เราจะขึ้นต้นน้ำด้วยการทำ”ฟิล์มต้นน้ำ”ในการรีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้ เป็นฟิล์มชนิดพิเศษ ซึ่งทาง TU ก็มีการใช้ฟิล์มชนิดพิเศษ 700-800 ล้านบาท หากเราทำได้ TU ก็จะมาเป็นลูกค้าเรา ทำให้ต้องมีพาร์ทเนอร์มาร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้ก็กำลังพูดคุยกันอยู่กับพาร์ทเนอร์ต่างชาติ”นายสมโภชน์กล่าว

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากวัตถุดิบที่มีราคาแพงจะใช้หมดในไตรมาส 2-3 ปีนี้ ทำให้ไตรมาส 4 ผลงานจะกระเตื้องขึ้นได้ เพราะตอนนี้บริษัทได้ซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง  คาดว่าผลงานจะเห็นแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาส 4 ไปถึงปี 2566  อีกทั้งคาดหวังว่าราคาน้ำมันจะลงมาแถว 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้บริษัททำงานง่ายขึ้น

“ที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบปรับขึ้นเยอะถีง 14% นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน แต่กว่าที่บริษัทจะปรับราคาขึ้นกับลูกค้าได้ก็เป็นรายไตรมาส แต่ราคาวัตถุดิบขึ้นทุกวัน บางทีขึ้นเช้า ขึ้นเย็นด้วยซ้ำ แต่บริษัทก็สามารถแก้ปัญหาได้บางส่วน จากที่ขึ้นราคาขายสินค้าได้แค่ 2-3% เท่านั้น”

เคลียร์ชัดเลิกธุรกิจขุดเหมืองบิทคอยน์

นายสมโภชน์ กล่าวถึงธุรกิจขุดเหมืองบิทคอยน์ว่า “ผมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SFLEX และเป็นกรรมการของ APCS (บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น) ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความเชื่อมั่นทางทฤษฏีใน”บิทคอยน์”ที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ในการหาประโยชน์จากบิทคอยน์ ซึ่งมองว่าสกุลเงินมีการแทรกแซงจากธนาคารกลาง ซึ่งเป็นการทำเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ค่าใช้จ่ายมีเสถียรภาพ แต่การแทรกแซงสกุลเงินส่วนตัว อย่าง “ลูน่า” ยังยืนยันไม่ได้ แต่เชื่อบิทคอยน์มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัท ทาง”สตาร์เฟล็กซ์”จึงได้ทำการศึกษา ซึ่งตอนศึกษาราคาเหรียญบิทคอยน์อยู่ที่ 4 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อเหรียญบิทคอยน์ และความยากในการได้เหรียญมาอยู่ที่ 180% ตอนนี้เหรียญบิทคอยน์ถูกลงเหลือแค่ราว 2 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อเหรียญบิทคอยน์ และความยากในการได้เหรียญมาอยู่ที่ 240% ถือว่าได้ยากขึ้น จึงมองไม่คุ้มการลงทุน

นอกจากนี้ ค่าเครื่องที่ใช้ในการขุดหาแหรียญบิทคอยน์ก็ถูกลงมา โดยสมัยก่อน 1 คอนเทนเนอร์จะมี 195 เครื่อง ราคาประมาณ 95 ล้านบาท แต่ตอนนี้ราคาลงมาเหลือ 65 ล้านบาท ซึ่งเครื่องขุดที่ถูกลงทำให้คนหันกลับมาขุดหาเหรียญกันอีก ทาง APCS กลับมาทำขุดเหมืองบิทคอยน์เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แต่ทาง”สตาร์เฟล็กซ์”ไม่กลับไปทำอีก เพราะมองราคาเครื่องไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริง คนที่ได้ประโยชน์เป็นคนขายเครื่องขุดมากกว่า บริษัทมองว่านำเงินไปลงทุนธุรกิจอย่างอื่นจะดีกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า ก่อนยกเลิกทำธุรกิจขุดเหมืองบิทคอยน์ก็ได้มีการหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งต่างก็เห็นด้วยและสบายใจที่จะไม่ทำ

ขณะที่ APCS ได้บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น(SUPER) เข้ามาถือหุ้น 13% ซึ่งทาง SUPER มีแนวคิดในการทำเหมืองบิทคอยน์ จึงได้ตั้ง”Green mining earth”ขึ้นมาทำธุรกิจขุดเหมือง และตั้ง”Green mining estate”ขึ้นมาทำนิคมเกี่ยวกับขุดเหมือง ซึ่งจะมีทุกอย่างให้เกี่ยวกับการทำขุดเหมืองบิทคอยน์ แล้วให้คนมาเช่าใช้พื้นที่ในนิคมเพื่อทำขุดเหมืองบิทคอยน์ ซึ่ง APCS ก็อาศัยนิคมของ SUPER ในการทำขุดเหมืองบิทคอย์ต่อไป โดยใช้งบลงทุน 800 ล้านบาท ค่าไฟที่ใช้ในนิคมก็ถูกลง ค่าเครื่องขุดก็ถูก ทำให้มองเป็นจังหวะในการลงทุน

นอกจากนี้  APCS ได้เหรียญมาก็ไม่ต้องรีบขาย  ต้องการรอให้ราคาเหรียญขึ้นถึง 3 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อเหรียญบิทคอยน์ก่อนค่อยขาย ขณะที่”สตาร์เฟล็กซ์”ได้เหรียญมาก็ต้องขายออกไปเลย เพราะจะต้องเอาไปจ่ายค่าไฟ ซึ่ง APCS มีความสามารถในการขุดระยะเวลา 100 วันจะขุดได้ 5 เหรียญบิทคอยน์ ส่วนของ”สตาร์เฟล็กซ์”ตอนนี้จึงหันไปโฟกัสโครงการอื่นแทน