HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 315 จุด ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่สาม นักลงทุนขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ และคลายกังวลต่อเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 2.2 ดอลลาร์ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ปิดที่ 32,845.13 จุด เพิ่มขึ้น 315.50 จุด หรือ 0.97 ปรับขึ้นเป็นวันที่สาม นักลงทุนขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ และคลายกังวลต่อเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,130.29 จุด เพิ่มขึ้น 57.86 จุด, +1.42%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,390.69 จุด เพิ่มขึ้น 228.09 จุด, +1.88%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวกราว 3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 4.3% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 4.7% และทั้งเดือนกรกฎาคมนี้ทั้งสามดัชนีปรับขึ้นรายเดือนมากสุดนับตั้งแต่ปี2020 โดยดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 6.7%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 9.1% และดัชนี Nasdaq แม้ยังอยู่ในแดนหมีก็บวก 12.4%
ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เริ่มคลายลงและมองว่าเงินเฟ้อน่าจะแตะระดับสูงสุดแล้ว อย่างไรก็ตามมีบางส่วนกังวลต่อเงินฟ้อเพราะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังยืดเยื้อ
กระทรวงพาณิชย์รายงาน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียกวันของปีก่อน สูงสุดในรอบกว่า 40 ปีนับตั้งแต่เดือนมกราคม 1982 และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCEเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1981 ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟด ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน
มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.5 สูงกว่า51.1 ที่นักวิเคราะห์คาด
ลอเรน กู้ดวิน จาก New York Life Investments กล่าวว่า ตลาดหวังว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะทำให้เฟด ผ่อนคลายนโยบายการเงินลง แม้จะใช้เวลานานขึ้น และการประเมินว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยสูงมาก ก็ช่วยหนุนตลาด แต่ก็เตือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ปกติและมีเวลากว่าที่จะเฟดประชุมครั้งต่อไป ทำให้คาดเส้นทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ยาก
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่สองแห่งช่วยหนุนดัชนี โดยหุ้นแอมะซอนบวกราว 10.4% จากรายงานยอดขายไตรมาสสองดีกว่าคาด หุ้นแอปเปิลบวก3.2% จากรายได้การขายไอโฟนสูงว่าคาด
หุ้นเชฟรอน และหุ้นเอ็กซอนโมบิลรายงานผลประกอบการไตรมาสสองดีกว่าคาด ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 8.9% และ 4.6% ตามลำดับ
หยง อวี้-หม่า จาก BMO Wealth Management กล่าวว่า แม้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่รายงานออกมาจะมีทั้งบวกและลบผสมกันไปแต่ก็มีผลทางบวกต่อตลาด เพราะเดิมนักลงทุนคาดไว้ว่าจะออกมาเป็นลบทั้งหมด เมื่อไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ นักลงทุนจึงมองว่านัยะต่อความเสี่ยงจากนี้ไปจะมีผลต่อหุ้นรายตัว
ตอนนี้กว่าครึ่งของบริษัทในดัชนี S&P 500 แจ้งผลการดำเนินงานแล้วซึ่ง 72% ดีกว่าที่คาด
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มน้ำมันและก๊าซที่บวก 2.9% นักลงทุนขานรับการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งผลให้ตลาดปรับขึ้นรายเดือนมากสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2020
สำนักงานสถิติยุโรป( Eurostat) รายงานว่า GDP ไตรมาสสองของ 19 ประเทศสมาชิกรวมกันขยายตัว 0.7% ดีขึ้นจาก 0.5% ในไตรมาสแรกและสูงกว่า 0.2% ที่นักวิเคราะห์คาด
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 438.29 จุด เพิ่มขึ้น 5.52 จุด, +1.28%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,423.43 จุด เพิ่มขึ้น 78.18 จุด, +1.06%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,448.50 จุด เพิ่มขึ้น 109.29 จุด, +1.72%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,484.05 จุด เพิ่มขึ้น 201.94 จุด, +1.52%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกันยายนขึ้นเพิ่ม 2.2 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 98.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 2.87 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 110.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล