กรุงศรีมองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.70 จับตาประชุมเฟด คาดขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.70 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.38 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2.9 พันล้านบาท และ 2.28 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงหลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีนรอบใหม่ซึ่งตลาดมองว่ารุนแรงน้อยกว่าคาด แต่เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเล็กน้อยช่วงท้ายสัปดาห์หลังจากตลาดคาดการณ์ว่าอังกฤษอาจถอนตัวจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากข้อตกลงด้านการค้า
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะจับตากระแสการค้าโลกอีกครั้งหลังจีนยกเลิกการประชุมเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และเป็นที่คาดการณ์โดยทั่วไปว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 กันยายนและโอกาสที่จะปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคมอยู่ที่ราว 70% ประเด็นหลักจึงอยู่ที่ถ้อยคำในแถลงการณ์ของเฟด ซึ่งจะมีนัยต่อการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป หากเฟดบ่งชี้ว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในระยะยาวเริ่มช้าลง เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขาย อย่างไรก็ดี ความต้องการดอลลาร์ช่วงปิดงวดไตรมาสอาจจำกัดการอ่อนค่าของดอลลาร์ได้
สำหรับปัจจัยในประเทศ มติกนง.ในการคงดอกเบี้ยรอบล่าสุดมีเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์เพิ่มขึ้น โดยในรอบนี้มีกรรมการ 2 รายสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจขยายตัวชัดเจนเพียงพอ และควรลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในระยะยาว อนึ่ง กนง.ไม่ต้องการให้เงินบาทผันผวนจากการที่นักลงทุนบางส่วนมองว่าไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยเนื่องจากมีฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ด้านกระทรวงพาณิชย์ตั้งข้อสังเกตว่าในเดือนสิงหาคม การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าไปตลาดจีนลดลงซึ่งอาจเป็นผลของสงครามทางการค้า
อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาททางการค้าทำให้หลายประเทศสนใจที่จะย้ายการลงทุนเข้ามาผลิตในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยอดส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าเติบโต 22.8% โดยการนำเข้าทองคำเป็นสาเหตุหลักทำให้ไทยขาดดุลการค้า 588 ล้านดอลลาร์ ในภาพรวม เรายังมีมุมมองว่ากนง.มีแนวโน้มเริ่มปรับสมดุลนโยบายภายในปีนี้