HoonSmart.com>> “บลจ.กสิกรไทย” ไม่หวั่นเงินเฟ้อโลกพุ่ง เฟดขึ้นดอกเบี้ยกดหุ้นไทยระยะสั้นผันผวน แนะจัดพอร์ตกระจายลงทุนหลายสินทรัพย์ ชูหุ้นเอเชียน่าสนใจ ยก “จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม” เด่น ด้านหุ้นไทยคาดดัชนีปลายปีมีโอกาสแตะ 1,750 จุด รับเศรษฐกิจฟื้นตัว ท่องเที่ยวหนุน ส่วนตราสารหนี้ไทยยังผันผวนตามทิศทางโลก แนะพักเงินในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หากรับความผันผวนได้ทยอยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเป็นระดับสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 40 ปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการรวบรวมข้อมูลมา ซึ่งภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกว่า 0.5% ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกได้
อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย ยังคงเชื่อว่าภายใต้ความผันผวนยังคงมีโอกาสสำหรับการเข้าลงทุนได้ โดยใช้หลักกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์และเลือกลงทุนในภูมิภาคและประเทศที่มีการเติบโตสูงจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและทองคำ เผชิญแรงเทขายอย่างรุนแรง ส่วนตราสารหนี้และน้ำมันปรับตัวขึ้นมาในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อกองทุนหุ้น มากกว่ากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) แนะนำหุ้นจีน ญี่ปุ่นและเวียดนาม นอกจากนี้ควรกระจายการลงทุนบางส่วนไปยังกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง กองทุนน้ำมัน และกองทุนทองคำ ในสัดส่วนไม่เกิน 5-10% ของพอร์ต
นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงผันผวนอยู่ในกรอบแคบ ตามความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สืบเนื่องมาจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นรุนแรง โดยบลจ.กสิกรไทยยังคงมองเป้าหมายดัชนีปลายปี 65 อยู่ที่ระดับ 1,750 จุดหรืออาจยืนในระดับที่สูงกว่านี้ได้ หากสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลง
“มอง Downside อยู่ที่ 1,550 จุด ตลาดหุ้นมีกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่คอยพยุงดัชนีได้ ทั้งกลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนประมาณ 25% ของตลาด ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น”นางสาวธิดาศิริ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.การระบาดของ COVID-19 ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 3.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านหลายโครงการของรัฐบาล 4.การบริโภคในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเด็นข่าวที่ภาครัฐจะเก็บภาษีขายหุ้นนั้นอาจกระทบต่อสภาพคล่องบ้าง โดยนักลงทุนที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นต้นทุนของนักลงทุนที่สูง ประกอบกับคอมมิชชั่นที่จ่ายต่ำ ต่างจากนักลงทุนสถาบัน กองทุน รวมถึงบลจ.กสิกรไทย ซึ่งกองทุนจะลงทุนระยะยาว ซื้อขายไม่ได้ถี่เหมือนโปรแกรมเทรดดิ้งและค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายโบรกฯ ใช้บริการบทวิจัย บทวิเคราะห์จึงไม่ได้จ่ายต่ำเหมือนโปรแกรมเทรดดิ้ง แต่โดยรวมหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นก็คงได้รับผลกระทบบ้าง กระทบสภาพคล่องถ้านักลงทุนโปรแกรมเทรดลดลง ทำให้วอลุ่มการซื้อขายตลาดลดลง อาจทำให้ความน่าสนใจของตลาดลดลงโดยรวม ซึ่งปัจจุบันโปรแกรมเทรดดิ้งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของวอลุ่มทั้งหมด
“กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มแบงก์ซึ่งได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กลุ่มเฮลธ์แคร์ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ขณะที่กลุ่มพลังงานได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่จากนี้ราคาน้ำมันดิบจะขึ้นได้อีกแค่ไหนจากปัจจุบันยืนแถว 120 ดอลลาร์แล้ว อย่างไรก็ตามกลยุทธ์การลงทุนจะเน้นเป็นการเลือกลงทุนหุ้นรายตัว (Selective) โดยพิจารณาเลือกหุ้นที่มีการเติบโตที่แน่นอน มีโอกาสฟื้นตัวสูง และได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ “นางสาวธิดาศิริ กล่าว
สำหรับฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าหุ้นไทยตลอดปีนี้ อาจชะลอตัวลงหากจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มนิ่งและแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวเชื่อว่าฟันด์โฟลว์จะไหลเข้ามา
นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นทุกประเทศ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน และอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมากจากหลายปัจจัย
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่ Yield Curve ได้ปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สะท้อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75-2.00% ไปแล้ว ค่าเงินบาทอ่อนตัวตามค่าเงินในภูมิภาค กระแสเงินไหลเวียนของผู้ลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) สุทธิแล้วเป็นเงินไหลเข้าเล็กน้อย แม้ปัจจัยพื้นฐานโดยรวมจะยังคงดีอยู่ และ Yield Curve ได้สะท้อนภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ในช่วงเวลานี้ตลาดยังมีความผันผวนอยู่บ้าง ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้โดยเลือกพักเงินในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น และหากรับความผันผวนของราคาได้ก็สามารถทยอยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางได้
อย่างไรก็ตามหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด คาดว่ามีโอกาสที่กนง.อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน