ลุ้นหุ้นพักฐานแรก 1,580 จุด เฟดเร่งขึ้นดบ.กดดันทั่วโลกขยับตาม

HoonSmart.com>>จันทร์ทมิฬ! หุ้นทั่วโลกดิ่งลงแรง ไทยเจอศึกในศึกนอกบ้าน ทรุดเฉียด 2% ดีกว่าหลายตลาดในภูมิภาค-ยุโรป จ่อไหลลงต่อ  พบกัน 1580,1550 จุด 3 ตลาดหุ้นสหรัฐล่วงหน้าทรุด คาดเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เดือนมิ.ย. ผู้ว่าธปท.ส่งซิกไทยปรับขึ้นเร็ว นายกฯขอความร่วมมือลดค่ากลั่นน้ำมัน รัฐเพิ่มราคาดีเซลอีก 1 บาท เป็น 34.94 บาท รมว.คลังเดินหน้าเก็บภาษีขายหุ้น บล.ทิสโก้คาดกดดันหุ้น 103 จุด  บล.พายแนะลดพอร์ต 

วันจันทร์ที่ 13 มิ.ย.2565 ตลาดหุ้นโลกทรุดหนักกันถ้วนหน้า 1-3% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลุด 1,600 จุด พยายามประคับประคองยืนปิดที่ระดับ 1,600.06 จุด ลดลง 32.56 จุด หรือ -1.99% มูลค่าซื้อขาย 73,466.76 ล้านบาท สถาบันไทยขายนำมากถึง 3,652.61 ล้านบาท ตามด้วยนักลงทุนต่างชาติ 2,597 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยช้อนเก็บ 6,170.58 ล้านบาท ด้านเงินบาทอ่อนค่าปิดที่ 34.80 บาท ส่วนบิทคอยน์เละ ราคาดิ่ง −3,041 ดอลลาร์ หรือ -11.45% ซื้อขายที่ 23,513 ดอลลาร์ ณ เวลาประมาณ 18.55 น.

ตลาดหุ้นไทยรูดลง 1.99% ดีกว่าหลายตลาดในภูมิภาค นำโดยเกาหลีใต้ดิ่งหนักที่สุด 3.52% ตามด้วยฮ่องกง -3.39% ญี่ปุ่น -3.01% ส่วนยุโรปหลายตลาดปรับตัวลงมากกว่า 2%  ตลาดหุ้นสหรัฐล่วงหน้า 3 แห่ง ดาวโจนส์ -600 จุดหรือ 1.9% S&P 500 รูดลง 2.3% Nasdaq -3% ณ เวลาประมาณ 19.00 น. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาสหรัฐ(บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.24% เพิ่มขึ้น 0.083%

บล.ทรีนีตี้ระบุว่า บอนด์ยีลด์ระยะสั้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าระยะยาว ทำให้ Real bond yield ของสหรัฐฯรุ่น 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 0.41% มองเป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงทองคำด้วย

นักกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราระดับอาวุโสจากบริษัทไดวะ ซีเคียวริตี้ระบุว่า นักลงทุนวิตกกังวลว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%  เน้นย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างด้าน
นโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐมากยิ่งขึ้น โดยผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ระบุว่า การอ่อนค่าอย่างหนักของเงินเยนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 23 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เผชิญกับความไม่แน่นอน และทำให้บริษัทเอกชนมีความยากลำบากในการวางแผนธุรกิจ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นตามธนาคารกลางประเทศหลักๆ และต้องพิจารณาในทุก ๆ ปัจจัย ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาท  แต่ขณะนี้ยังชะล่าใจไม่ได้ ต้องทำนโยบายอย่างระมัดระวัง เพราะมีหลายปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน รวมถึงราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ยเคมี และค่าเงินด้วย

“เฟดขึ้นดอกเบี้ย ไม่จำเป็นว่าเราต้องขึ้นตาม ต้องดูบริบทของเรา จริงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วเราไม่ขึ้น อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังไม่มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก ตอนนี้ net ยังไหลเข้า สิ่งที่เราต้องดู คือเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงิน” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.พาย กล่าวว่า หุ้นปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ทั้งภูมิภาคเอเชีย ยุโรปที่เทรดตอนบ่ายยังปรับตัวลง หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐออกมาสูงกว่าที่คาดถึง 8.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้เห็นว่าเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดพีค เกิดความวิตกธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร่งตัวขึ้น 0.50% หรือ 0.75% ก็ได้ จึงต้องจับตาผลการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้

ดังนั้นนักลงทุนจึงเลือกขายลดความเสี่ยงก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนจากการประชุมเฟดก่อน เพราะเงินเฟ้อที่สูงเกิดจากตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งราคาน้ำมัน, อาหาร, ต้นทุนค่าแรง สิ่งที่จะทำได้คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างปรับตัวลงไป

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน แต่มองปัจจัยหลักอยู่ที่การประชุมเฟดเป็นสำคัญ

แนวโน้มวันที่ 14 มิ.ย. ตลาดฯยังมีโอกาสที่จะปรับตัวลงก่อนผลการประชุมเฟดจะออกมา พร้อมให้แนวรับ 1,600-1,580 จุด ส่วนแนวต้าน 1,620 จุด โดยระดับ 1,580 เป็นจุดที่เคยลงไปแล้วเด้งขึ้น แต่รอบนี้จะลงไปลึกเท่าไร ขึ้นอยู่กับผลการประชุมเฟด

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า หุ้นปรับตัวลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก  วิตกเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดหลายสำนักเริ่มหันมาคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้น 0.75% ในการประชุมเฟดวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ จากเดิมที่กว่า 90% คาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50%  นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร บอนด์ยีลด์ ของสหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นด้วยกดดันหุ้น

บล.พาย (Pi) มองกรอบดัชนีทั้งสัปดาห์นี้ 1,590-1,630  มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.จะสูงกว่าเดือนพ.ค. จากราคาน้ำมันดิบ BRT เดือน มิ.ย. ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง  หุ้นแนะนำเน้น Defensive Stock อาทิ โรงพยาบาล (BCH,CHG) สื่อสาร (ADVANC,INTUCH) ค้าปลีก (BJC,CPALL) ส่งออก (ASIAN,TU)  ให้เป้าหมาย TU ที่ 22.10 บาท

บล.กสิกรไทยรายงานว่า รมว.คลังเตรียมเสนอพระราชกฤษฎีกาเก็บภาษีหุ้น(FTT) เข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาการเก็บภาษีขายหุ้น โดยจะให้เวลาผู้เกี่ยวข้องเตรียมตัวไม่เกิน 90 วัน ประเมินผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายของตลาดลดลง ทำให้ค่าP/E ของหุ้นและตลาดต่ำลง ต้นทุนการเงินของบจ.สูงขึ้น ลดแรงจูงใจในการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดน้อยลง

บล.ทิสโก้ คาดผลกระทบต่อมูลค่าซื้อขายจะลดลง 20-30%  กดดันให้ดัชนีลดลง 103 จุด จากเป้าหมายปีนี้ลดลงเหลือ1,617 จุด