GULF โตเร็ว ส่งกำไรออลไทม์ไฮ ต่อจิ๊กซอว์ ‘พลังงาน-ดิจิทัล’ ครบวงจร

HoonSmart.com>>บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) สร้างปรากฎการณ์ขยายอาณาจักรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีนี้ (63-65) แม้โลกจะเผชิญวิกฤตจากโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งแผนการเติบโตไกลเกินกว่าธุรกิจพลังงานไปได้ บริษัทต่อยอดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ก้าวเข้าไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างสง่างาม ซึ่งเม็ดเงินที่ทุ่มลงทุนในแต่ละดีล นอกจากสร้างความฮือฮาแล้ว ยังช่วยผลักดันกำไรนิวไฮในระยะยาว…

ปัจจุบันกัลฟ์ฯถือหุ้นใหญ่มากกว่า 40% ในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เจ้าของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ผ่านการถือหุ้น 40%ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และดิจิทัล เซอร์วิส สามารถนำไปขยายธุรกิจได้อีกมากมาย

GULF มองเห็นโอกาสของธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย จึงร่วมทุนกับ Singapore Telecommunications (สิงเทล) และ ADVANC  เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่นเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้เลือก ADVANC เป็นพันธมิตรในการบุกธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การขยายสินเชื่อเติบโตก้าวกระโดดได้ไม่ยาก

ส่วนธุรกิจ”สินทรัพย์ดิจิทัล” หากไม่ทำก็ตกขบวน แต่กัลฟ์ฯมองไกล ลงทุนทั้งทีต้องยิ่งใหญ่ระดับโลก จัดตั้งบริษัทย่อยในฮ่องกง เข้าลงทุนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ Binance.US เป็นเงินรวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถือหุ้นประมาณ 0.4% ของมูลค่ารวม เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทฯ มีส่วนร่วมในธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีจำนวนผู้ใช้งานเติบโตเร็วที่สุดในโลก และยังสามารถรับรู้มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากเข้าตลาดหุ้นสหรัฐ  Binance.US วางแผนธุรกิจโตในปี2565 และจะเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรกหรือ IPO อีก 2-3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ได้ตั้งบริษัทย่อย กัลฟ์ อินโนวา ร่วมทุน 51% กับไบแนนซ์ จัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ภายในปี 2565  จะให้ผลตอบแทนที่ดีให้กับกัลฟ์ฯได้ เพราะระบบของไบแนนซ์มีประสิทธิภาพ มีการเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายและคิดค่าคอมมิชชันต่ำ ดึงดูงนักลงทุนเข้ามาเป็นลูกค้า เชื่อว่าสามารถชิงเค้กก้อนใหญ่จาก”บิทคับ”ได้

สำหรับธุรกิจหลัก “พลังงาน” กัลฟ์ฯยังคงให้ความสำคัญ มองเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนต่อยอด รวมถึงธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานนและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ โดยเลือกปตท.เป็นพันธมิตรหลายโครงการ เช่น การซื้อหุ้นในบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ( PTT NGD ) รวม 42% และปตท.ถือหุ้น 58% ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติโดยลงทุนสร้างระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ไปยังลูกค้าในพื้นที่อุตสาหกรรม 13 แห่ง รอบกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ระยอง  มีลูกค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 250 ราย และบริษัทย่อย “กัลฟ์ แอลเอ็นจี” ได้รับอนุมัติจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อลดต้นทุนพลังงาน และขายให้กับบริษัทนอกธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม อาทิ ท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3

ที่สำคัญกัลฟ์ฯยังเกาะกระแสเมกะเทรนด์ “รักษ์โลก” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ประกาศเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมของบริษัทฯ ภายในปี 2573 มีการกระจายการลงทุนทั้งในแถบประเทศยุโรป ประเทศเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ในพลังงานทุกประเภท ไม่เกี่ยงเรื่องขนาด

อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบก เวียดนาม ขนาด 100 เมกะวัตต์หรือ MW (คาด CODไตรมาส 4/65) โรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล ประเทศเยอรมนี 464.8 MW โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Pak Beng สปป.ลาว ขนาด 912 MW(COD 1ม.ค.2576) และ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ขนาดไม่ต่ำกว่า 9.5 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดเชียงใหม่

กัลฟ์ฯบุกอย่างหนัก ในเดือนพ.ค. ประกาศร่วมทุนถึง 3 ดีล จับมือบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี  ร่วมทุนลงทุนโซลาร์รูฟท็อปกับบริษัทในกลุ่ม ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และบริษัทลูกของ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น(CRC ) ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาของบริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ เพื่อขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในกลุ่มเซ็นทรัล และ/หรือ กลุ่มลูกค้าอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ออกบทวิเคราะห์ วันที่ 26 พ.ค. 2565 ว่า ในเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทกัลฟ์ฯได้ประกาศร่วมลงทุน 4 โครงการ ทั้งกันกุลฯ โซลาร์รูปท็อปของกลุ่ม ปูนซิเมนต์ไทยและซีอาร์ซี ไทวัสดุ รวมถึงการร่วมทุนกับไบแนนซ์ ตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประทศ เพื่อแผนงานการเติบโตที่เร็วขึ้น เพราะนำจุดแข็งของพันธมิตรมาร่วมกันสร้างให้ถึงเป้าหมาย

นอกจากนี้ยังคาดว่ากัลฟ์ฯจะเพิ่มกำลังการผลิตอย่างรวดเร็ว ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และประเทศเวียดนาม (PDP)  จึงยังคงแนะนำซื้อ ให้มูลค่าเหมาะสมที่ 60 บาท พลังที่น่าดึงดูดพร้อมแนวโน้มการเติบโตที่มองเห็นได้ในปี 2565-2568

ทั้งนี้ ในปี 2564 GULF มีกำไรสุทธิ 7,670 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 13,752 ล้านบาท ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 14,799 ล้านบาท และ 15,669 ล้านบาทในปี 2567 ให้ผลตอบแทนปันผลปีละ 1.5% “บล.ฟินันเซีย ไซรัสคาดการณ์

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการของ GULF ในไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะทำนิวไฮได้ต่อ แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะยังฟื้นตัวได้ไม่มาก เพราะต้นทุนก๊าซธรรมชาติยังสูง แต่โครงการ GSRC (IPP) หน่วยที่ 3 ขนาด 663 MW ซึ่ง GULF ถือหุ้น 70% จะรับรู้เต็มไตรมาส หลัง COD เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 และโครงการลมแม่โขงวินขนาด 128 MW จะเริ่ม COD บางส่วนในช่วงปลายไตรมาส จึงคงประมาณการกำไรปกติปีนี้ที่ 14,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.3% คงราคาเป้าหมายที่ 54.50 บาท

บล.พาย เลือก GULF เป็นหนึ่งในหุ้นเด่นในกลุ่มไฟฟ้า มูลค่าพื้นฐาน 58 บาท ราคาก๊าซที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกำไรน้อยกว่าผู้เล่นรายอื่น เนื่องจากมีสัดส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) สูงกว่า

“คาดภาพรวมเชิงบวกในไตรมาส 2 และทั้งปีนี้ หนุนจากการรับรู้โครงการ GSRC พร้อมส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH มาช่วยขับเคลื่อน ”

บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า 27% ในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) จากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 แห่งใน สปป.ลาว ด้วยกำลังการผลิตรวมที่ 17 GW ภายในครึ่งหลังปี 2565 บริษัทยังมี upside ที่อาจเกิดขึ้นจากธุรกิจใหม่ อาทิ สินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเล็งเห็นศักยภาพที่สูง แต่ยังคงรอความคืบหน้าที่ชัดเจนก่อนปรับตัวเลขใดๆ