ดาวโจนส์ปิดลบ 103 จุด วิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจ

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วง ดัชนีดาวโจนส์ปิดลบ 103 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ท่ามกลางการซื้อขายเหวี่ยงขึ้นลงอย่างมาก จากแรงขายต่อเนื่องด้วยความวิตกเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจ ดัชนี S&P 500 ลงต่อ ด้าน Nasdaq ขยับบวก 6.73 จุด ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นักลงทุนยังกังวลเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ เฟดขึ้นดอกเบี้ยและเกาะติดการรายงานผลประกอบการ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ปิดที่ 31,730.30 จุด ลดลง 103.81 จุด หรือ 0.33% ปิดลบเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันท่ามกลางการซื้อขายที่เหวี่ยงขึ้นลงอย่างมาก จากแรงขายที่มีต่อเนื่องด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อและความกังวลที่กลับเข้ามาใหม่ว่าธนาคารกลาง (เฟด) จะคุมเงินเฟ้อด้วยการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงรุกมากกว่าที่คาดไว้และอาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะงัก

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,930.08 จุด ลดลง 5.10 จุด, -0.13%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,370.96 จุด เพิ่มขึ้น 6.73 จุด, +0.06%

ในช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นจากที่นักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อหุ้นที่ถูกเทขายหนัก ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้นสูงสุดของวัน 80 จุด และดัชนี Nasdaq บวก 1.61% แต่หลังจากอ่อนตัวลงโดยดัชนีดาวโจนส์ลดลงไปถึง 500 จุดและดัชนี Nasdaq ลดลง 2.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวัน ก่อนที่จะเด้งกลับมา

หุ้นที่ถูกเทขายหนักก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยหุ้น Lucid เพิ่มขึ้น 13.2% หุ้น GameStop บวก10% และหุ้นAMC เพิ่มขึ้นกว่า 8% ส่วนหนึ่งจากการซื้อคืนเพื่อปิดสถานะของเฮดจ์ฟันด์

หุ้นแอปเปิลลดลง 2.7% ส่งผลให้ตกไปอยู่ในภาวะหมี( bear market) และลดลง 22% ระดับสูงสุดรอบ 52 สัปดาห์ ส่วนหุ้นแอมะซอนและหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส ต่างเพิ่มขึ้นกว่า 1%

หุ้นวอลท ดิสนีย์ ลดลง 0.9% หลังบริษัทเปิดเผยจำนวนสมาชิกที่ใช้บริการสตรีมมิงดิสนีย์พลัส (Disney+)เพิ่มขึ้นมากว่าคาด แต่เตือนว่า ธุรกิจสวนสนุกในเอเชียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยรวมตลาดลดลงจากข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุด โดยดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI)เดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่ดันชีPPI พื้นฐานไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือนและเพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบรายปี

บิล อดัมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Comerica กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวเล็กน้อยในเดือนเมษายน แต่ยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ และไม่มีอะไรจะขวางเฟดไม่ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อดูจากเงินเฟ้อดือนเมษายน เฟดต้องการเห็นชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังลด และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้อุปสงค์ชะลอตัว ก่อนที่จะเริ่มพิจารณายุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ชาร์ลี ริปเลย์นักลกยุทธ์การลงทุนอาวุโสจาก Allianz Investment Management กล่าวว่า ประเด็นก็คือ เฟดจะดึงเงินเฟ้อลงอย่างไรพร้อมกับที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

กระทรวงแรงงานรายงานการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 203,000 ราย สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และสูงกว่า195,000 ราย ที่นักวิเคราะห์คาด

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานที่ลดลง 3% นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะที่เกาะติดการรายงานผลประกอบการ

เศรษฐกิจอังกฤษหดตัว 0.1% ในเดือนมีนาคมแต่ขยายตัว 0.8% ในไตรมาสแรกของปี 2022 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดและเป็นสัญญานว่าจะเลวร้ายลงอีกจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

หุ้น BMW ลดลง 8% หลังปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผล หุ้น Siemens ลดลง 2.5% หลังกำไรสุทธิไตรมาสแรกลดลงครึ่งหนึ่งมาที่ 1.21 พันล้านยูโร จากความเสียหาย 600 ล้านยูโรจากสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 424.40 จุด ลดลง 3.19 จุด, -0.75%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,233.34 จุด ลดลง 114.32 จุด, -1.56%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,206.26 จุด ลดลง 63.47 จุด, -1.01%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,739.64 จุด ลดลง 89.00 จุด, -0.64%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 42 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 106.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 6 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 107.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล