ดาวโจนส์ติดลบ 84 จุด รอข้อมูลเงินเฟ้อ

HoonSmart.com>>ดัชนีดาวโจนส์ผันผวนมาก ระหว่างวันร่วงลงต่ำกว่า 500 จุด มาปิดติดลบ 84.96  จุด ส่วนดัชนี S&P 500 และ ดัชนี Nasdaq  ปิดบวกได้  ตลาดรอตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. นักวิเคราะห์คาดออกมาดีกว่าเดือนมี.ค.ที่สูงถึง 8.5% นักลงทุนยังคงเกาะติดการล็อกดาวน์ในจีนและสถานการณ์ในยูเครน ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดบวก  ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อ 3% 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 10 พ.ค. 2565 ปิดที่ 32,160.74 จุด ลดลง 84.96 จุด หรือ 0.26% ติดต่อกันเป็นวันที่สี่ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน แรงซื้อสลับแรงขาย ที่ทำให้ช่วงหนึ่งของการซื้อขายดัชนีร่วงลงไปกว่า 500 จุด

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,001.05 จุด เพิ่มขึ้น 9.81 จุด, +0.25%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,737.67 จุด เพิ่มขึ้น 114.42 จุด, +0.98%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ถูกเทขายหนักก่อนหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหุ้นไมโครซอฟต์และหุ้นแอปเปิลต่างเพิ่มขึ้นกว่า 1% หุ้นอินเทลและหุ้นเซลส์ฟอร์ซบวกกว่า 2% หุ้นไอบีเอ็มลดลงราว 4% หุ้นโฮมดีโป้ หุ้น 3M และหุ้นเจพีมอร์แกนต่างลดลงราว 2% และฉุดดัชนีดาวโจนส์ให้ปิดลบ

นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัว

เมแกน ฮอร์นแมน ที่ปรึกษาของ Verdence Capital กล่าวว่า ในตลาดตอนนี้เป็นเพียงการเริ่มรอบใหม่และปรับระดับราคากันใหม่ ไม่เพียงรับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วย และคิดว่าภาพเงินเฟ้อที่ไม่แน่นอนในช่วงที่เหลือของปี 2565

นอกจากนี้ตลาดยังวิตกเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทว่าอาจจะได้รับผลกระทบการเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ข้อมูลจาก FactSet พบว่า ณ วันศุกร์ กำไรต่อหุ้น (EPS) บริษัทใน S&P 500 ส่วนใหญ่ดีกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่การปรับขึ้นยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5ปี

ปัจัยที่ยังมีผลต่อตลาด ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง(เฟด) เพื่อคุมเงินเฟ้อ และต้องดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมหากขึ้นดอกเบี้ยช้าไปไม่เพียงคุมเงินเฟ้อไม่ได้ แต่จะมีผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อมากขึ้น แต่หากขึ้นดอกเบี้ยเร็วไป ก็เสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย

นักลงทุนรอการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนเมษายนในวันนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณว่าเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดแล้ว

ขณะเดียวกันนักลงทุนยังเกาะติดการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสในจีนและสถานการณ์ในยูเครน

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนำโดยกลุ่มบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 1.6% ด้วยแรงซื้อที่กลับเข้ามา ส่งผลให้ฟื้นจากที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อวานนี้จากแรงเทขายเพราะกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและดอกเบี้ย

สถาบันวิจัย ZEW ในเยอรมนี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -34.3 จาก -41.0 ในเดือนเมษายน และสูงกว่า -44.5 ที่นักวิเคราะห์คาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 420.29 จุด เพิ่มขึ้น 2.83 จุด, +0.68%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิด 7,243.22 จุด เพิ่มขึ้น 26.64 จุด, +0.37%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิด 6,116.91 จุด เพิ่มขึ้น 30.89 จุด, +0.51%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,534.74 จุด เพิ่มขึ้น 154.07 จุด, +1.15%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 3.33 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 99.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมลดลง 3.48 ดอลลาร์ หรือ 3.28% ปิดที่ 102.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล