HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/65 ขยายตัวเกินคาดอยู่ที่ 4.8% แนวโน้มช่วงที่เหลือของปีเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงต้องจับตา แรงกดดันจากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังผิดนัดชำระหนี้ คาดเศรษฐกิจจีนปี 65 ขยายตัว 4.4-4.8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2565 เติบโต 4.8% YoY และ 1.3% QoQ ภายใต้หลากปัญหารุมเร้า โดยการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางฟื้นตัวในช่วงสองเดือนแรกของปีตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงตรุษจีนและโอลิมปิกฤดูหนาว แต่ต่อมาในเดือน มี.ค. ก็กลับสะดุดลงจากการล็อกดาวน์ในหลายมณฑลทั่วประเทศ สะท้อนจากตัวเลขค้าปลีกที่ลดลงในหลากหลายหมวดหมู่
ในขณะที่ภาคการผลิตเผชิญต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการขาดแคลนวัสดุการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคที่ตอบรับนโยบายการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และภาคสุขภาพและการศึกษาที่ตอบรับนโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกันยังคงเติบโต
สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ยังคงขยายตัวดีเช่นกัน ต่างกับอัตราการว่างงานทั่วประเทศในเดือน มี.ค. ที่เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ ใขณะที่อัตราเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก
ในขณะที่ทางการจีนประกาศชัดในความพร้อมในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการทางการเงินผ่านการปรับลดดอกเบี้ย และการปรับลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) และมาตรการคลังเพิ่มเติมหลังจากได้มีการลดหย่อนภาษีสำหรับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่
ในส่วนภาคการคลัง ทางการจีนวางแผนการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัว 8.4% ตลอดจนการขยายนโยบายสนับสนุนธุรกิจการผลิตขนาดเล็กและบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระผ่านมาตรการลดหย่อนและคืนภาษีรวมมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 395 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในขณะที่ยังมีการคงโควต้าสำหรับการออกตราสารหนี้รัฐบาลท้องถิ่นไว้ที่ 3.65 ล้านล้านหยวนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ในส่วนภาคการเงิน ทางการจีนยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างต่อเนื่องผ่านการลดดอกเบี้ยและการลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) โดยวันที่ 15 เม.ย. ทางการจีนประกาศปรับลด RRR ลงในอัตรา 0.25% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เม.ย. 2565 ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องสู่เศรษฐกิจราว 530 พันล้านหยวน (83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบปี 2565 หลังจากมีการปรับลดมา 2 ครั้งในปี 2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะแสดงแนวโน้มการฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสแรก แต่จีนยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ประเด็นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการผิดนัดชำระหนี้ทยอยออกมาใหม่ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนต่อไป
นอกจากนี้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มแรงกดดันให้กับนโยบาย Zero-Covid ของจีน และการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีหากมีการระบาดไปยังเมืองต่างๆ ของจีนมากขึ้น ทำให้การบริโภคฟื้นตัวได้ช้า และเพิ่มแรงกดดันด้านโลจิสติกส์ต่อผู้ส่งออก
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ประเด็นภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังมีการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด
ทั้งนี้ ในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวในกรอบ 4.4-4.8% โดยแรงหนุนหลักยังคงมาจากแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการจีน การลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งออกที่ยังเติบโตได้ ในขณะที่ยังต้องจับตาสถานการณ์โควิดในจีนรวมถึงแนวทางที่จีนจะใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายโควิดเป็นศูนย์ในระยะต่อไป