จากบทความตอนที่ 1 เรื่อง ภาพรวมผู้ลงทุนและมิติการเข้าถึงการลงทุนกองทุนรวม ผู้เขียนได้เล่าถึงข้อมูลของผู้ลงทุนแต่ละ generation ที่อยู่ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม รวมทั้งการเข้าถึงกองทุนรวมของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทยไปแล้ว สำหรับบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอชวนเจาะลึกการใช้ Big Data สร้างความเข้าใจพฤติกรรม และเทรนด์การลงทุนของแต่ละ generation เพราะนอกจากการกำหนดแนวทางสนับสนุนให้ผู้ลงทุนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนได้ลงทุนอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยอีกด้วย
เนื่องจากกองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย มีความแตกต่างกันในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยง จากภาพรวมพบว่าผู้ลงทุนมีการลงทุนสอดคล้องตามช่วงวัย โดยกลุ่ม Baby Boomer และ Post War เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่กลุ่ม generation X และ Y เน้นลงทุนในตราสารทุน ซึ่งการจัดพอร์ตตามวัยนี้จะทำให้เกิดการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ และช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน โดยคนอายุน้อยจะมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูงกว่าคนที่อายุมากกว่า เนื่องจากมีระยะเวลาลงทุนที่นานกว่าและมีโอกาสสร้างรายได้จากการทำงาน จึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสในการเติบโตที่สูง แล้วจึงค่อย ๆ ปรับพอร์ตลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น เมื่อเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ
หากเจาะลึกลงไป พบว่าส่วนใหญ่มีแรงจูงใจด้านภาษีเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนส่วนมากอยู่ในกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั่นคือ LTF RMF และ SSF ตามลำดับ สำหรับในเชิงนโยบายก็สะท้อนให้เห็นว่าภาษีเป็นแรงจูงใจผู้ลงทุน หากแรงจูงใจเหล่านี้หมดไปอาจทำให้ผู้ลงทุนมีการลงทุนในกองทุนรวมลดลง ดังนั้น ควรมีมาตรการเหมาะสมนอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายและส่งเสริมให้ประชาชนลงทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เทรนด์การลงทุนในกองทุนรวมในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุน “กองทุนต่างประเทศ” สูงมากขึ้น โดยการใช้ big data เจาะพฤติกรรมการลงทุนทำเราทราบถึงเทรนด์การลงทุนว่า generation ใดกำลังให้ความสนใจกับกองทุนดังกล่าว (รายละเอียดตามรูปที่ 1) ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ณ สิ้นปี 2563 จำนวนผู้ลงทุนใน generation X และ Y เติบโตอย่างมากในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ มีเพียง Baby Boomer ที่มีจำนวนลดลงซึ่งอาจเป็นการปรับพอร์ตให้เหมาะสมตามวัยเพื่อหลีกเลี่ยงจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การลงทุนกองหุ้นต่างประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนผู้ลงทุนใน generation Y ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 71 แสดงให้เห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านกองทุนหุ้นต่างประเทศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ generation Y อย่างมาก
จากพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนนี้จะช่วยทำให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ลงทุน เห็นถึงสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันที่ชัดขึ้น และสามารถมองถึงแนวโน้มของการลงทุนในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลยุทธ์ในการกำหนดนโยบาย การประกอบธุรกิจ และการลงทุนต่อไปครับ
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อ่านบทความ
ก.ล.ต. ใช้ Big Data เจาะพฤติกรรมการลงทุนกองทุนรวม (ตอนที่ 1)