การเข้าใจบทบาทและพฤติกรรมของผู้ลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการลงทุนให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางการขยายฐานผู้ลงทุนในอนาคต ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต. จึงได้ศึกษาพฤติกรรมการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของการถือครองหน่วยลงทุนในกองทุนรวมของผู้ลงทุนบุคคล ตั้งแต่ปี 2562 โดยจำแนกลักษณะของผู้ลงทุนในด้าน อายุ เพศ และถิ่นที่อยู่ ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมการลงทุนผ่านกองทุนรวมของทั้งประเทศ และนำไปประยุกต์และรองรับนโยบายในการขยายฐานและส่งเสริมความรู้แก่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการฉายภาพรวมของผู้ลงทุนในกองทุนรวม (Profile) ดังนี้ ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวนบัญชีในกองทุนรวมทั้งสิ้น 8.3 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบัญชีจากปี 2562 ที่มี 7.1 ล้านบัญชี) มีจำนวนผู้ลงทุนบุคคลทั้งสิ้น 1.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 3.2 หมื่นคนจากปี 2562 ที่มี 1.48 ล้านคน) และส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 58 เป็นผู้หญิง ร้อยละ 42 เป็นผู้ชาย) หากพิจารณาสัดส่วนตามภูมิภาคพบว่าร้อยละ 63 อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ลดลงร้อยละ 2 จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 65) แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนผู้ลงทุนบุคคลในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการขยายตัวสูงขึ้น
จากข้อมูลของแต่ละ generation ที่ลงทุนในกองทุนรวม ในการศึกษานี้ได้แบ่งผู้ลงทุนบุคคลตาม generation ทั้งหมด 5 generations ด้วยกัน ได้แก่ Post war, Baby Boomer, X, Y และ Z ในด้านจำนวนผู้ลงทุนพบว่า generation Y มีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 36 ของผู้ลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมด โดยเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ลงทุนสูงที่สุดในปี 2556-2563 รองลงมาคือ generation X มีสัดส่วนร้อยละ 35 ของผู้ลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม Baby Boomer มีแนวโน้มลงทุนลดลงในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 33 ในปี 2556 ลดลงเหลือร้อยละ 24 ในปี 2563 (รายละเอียดตามรูปที่ 1 จำนวนผู้ลงทุนบุคคล)
ในด้านของมูลค่าการลงทุนพบว่า กว่าครึ่งของมูลค่าเงินลงทุนเป็นของ Baby Boomer ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการสะสมเงินลงทุนที่สูงกว่า generation X และ Y (รายละเอียดตามรูปที่ 1 มูลค่าการลงทุนของผู้ลงทุนบุคคล)
นอกจากนี้ การเข้าถึงกองทุนรวมมีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยเพราะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าประชากรไทยสะสมเงินลงทุนผ่านตลาดทุนมากน้อยเพียงใด ข้อมูล penetration rate ที่เปรียบเทียบจำนวนผู้ลงทุนบุคคลที่ลงทุนในกองทุนรวมกับประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทยจะช่วยสนับสนุนนโยบายการขยายฐานผู้ลงทุนต่อไปในอนาคต โดยการศึกษานี้ได้จัดแบ่งการเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมเป็น 3 มิติ ดังนี้
มิติแรก คือ การเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตามกลุ่มประชากร เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีโอกาสเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวม โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้ลงทุนบุคคลในกองทุนรวมกับจำนวนประชากรผู้มีงานทำ จำนวนทั้งสิ้น 37 ล้านคน พบว่า penetration rate เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 4 ในปี 2563 หากเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานในระบบ 15 ล้านคน พบว่า penetration rate อยู่ที่ร้อยละ 10 ซึ่งเห็นได้ว่าอัตราการเข้าลงทุนในกองทุนรวมยังอยู่ในระดับน้อย จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หรือหากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 4 ล้านคน[*] ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการออมและเป็นเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ลงทุน พบว่า penetration rate อยู่ที่ร้อยละ 34.4 ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้เสียภาษี จึงเป็น target group ในการผลักดันให้เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้นในอนาคต
ในมิติที่สอง คือ การเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตามภูมิภาค เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ใดมีการเติบโตของผู้ลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งในภาพรวมจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมยังมีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ในช่วงปี 2556-2563 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด เฉลี่ยร้อยละ 24 ต่อปี ภาคตะวันออกและภาคเหนือมีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี ภาคกลางเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ภาคใต้เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฐานผู้ลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้นการเติบโตของผู้ลงทุนจึงน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี จากมิติดังกล่าวแสดงให้เห็นศักยภาพการเข้าถึงกองทุนรวมในภูมิภาคที่มีการเติบโตที่เร็ว สะท้อนถึงความจำเป็นในการขยายฐานผู้ลงทุนนอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
ในมิติที่สาม คือ การเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตาม generation เพื่อศึกษาว่ากลุ่ม generation ใดให้ความสนใจในการลงทุนในกองทุนรวม เมื่อทำการวิเคราะห์ penetration rate ตามกลุ่มของ generation (รูปที่ 2) ณ สิ้นปี 2563 จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มี penetration rate สูงสุดคือ generation X และ generation Y ตามลำดับ ซึ่งอัตราการเข้ามาลงทุนกองทุนรวมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยสิ่งที่น่าสนใจคืออัตราการเติบโตของ penetration rate ใน generation Y นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว จากปี 2556 จนถึง 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า
จากผลการศึกษา Big data นี้แสดงให้เห็นว่า generation X และ generation Y คืออนาคตสำคัญของตลาดทุนมีแนวโน้มในการสะสมเงินลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม generation Y ที่มีการเพิ่มจำนวนของผู้ลงทุนที่รวดเร็ว จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นเป้าหมายสำคัญของ ก.ล.ต. ที่จะส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในด้านการให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมกับอายุและเป็นเป้าหมายในการขยายฐานต่อไป เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนรุ่นใหม่เข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้นและพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์