HoonSmart.com>> บลจ.ทาลิส ลุยปันผลกองทุนหุ้นไทย “TLDIVLTF-D, TLDIVLTF-D” จ่ายเงินพร้อมกัน 18 ก.พ.65 มองแนวโน้มตลาดหุ้นปี 65 ยังคงเป็นปีที่ดี ขานรับเศรษฐกิจ กำไรบริษัทจดทะเบียนแนวโน้มฟื้นตัว มีลุ้นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาด Emerging Market มากขึ้น
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผล 2 กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ กองทุนเปิดทาลิส Dividend Stock หุ้นระยะยาวปันผล (TLDIVLTF-D) ในอัตรา 0.125 บาทต่อหน่วย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 พ.ย. 2564 – 31 ม.ค. 2565 และ กองทุนเปิดทาลิส Dividend Stock หุ้นทุนปันผล (TLDIVEQ-D) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 ก.พ 2564 – 31 ม.ค. 2565 โดยปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนในวันที่ 10 ก.พ. 2565 เวลา 8.00 น. และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมกันในวันที่ 18 ก.พ. 2565
กองทุนเปิดทาลิส Dividend Stock หุ้นทุนปันผล (TLDIVEQ-D) มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รวมถึงมีแนวโน้มที่จ่ายเงินปันผลโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ บริษัทจัดการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ ดังนี้ (1) ผลประกอบการทั้งในปัจจุบันและอนาคตของบริษัทผู้ออกตราสาร (2) การคาดการณ์การจ่ายเงินปันผลของบริษัทผู้ออกตราสาร
ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปรับเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุน โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกตราสารเพื่อพิจารณาความสามารถในการจ่ายปันผลในอนาคตอย่างน้อยทุกครั้งที่มีการประกาศงบการเงิน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงานหรือฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ผู้จัดการกองทุนก็จะปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสม
นายประภาส กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในปี 2565 ยังคงเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวดี ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีอยู่สูงและดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ยังมีโอกาสที่เงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดหุ้น Emerging Market มากขึ้น
อย่างไรก็ตามปี 2565 มีโอกาสจะมีความผันผวนมากกว่าปี 2564 จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตในปี 2565 สูงกว่าปีที่ผ่านๆ มามาก ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและผู้ประกอบการต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของ US และการทำ Quantitative Tightening (QT)
“การทำ QT ในปี 2565 อยู่ในช่วงที่ตลาดยังมีสภาพคล่องสูง และดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ความกังวลว่าเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้น เงินจะไหลออกจากตลาดหุ้นไปตลาดตราสารหนี้แต่ผลกระทบอาจจะไม่มาก ทิศทางการลงทุนในกลุ่ม Emerging Market รวมถึงไทย ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว เทียบกับกลุ่ม Developed Market ที่มีการฟื้นตัวไปแล้ว ทำให้ตลาด Emerging Market มีความน่าสนใจ” นายประภาส กล่าว