HoonSmart.com>> บลจ.พรินซิเพิล มองเทรนด์ลงทุนปี 65 คาดครึ่งปีแรกผันผวน แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี เฟดขึ้นดอกเบี้ยลดขนาด Balance Sheet ช่วงครึ่งหลังของปี แนะลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป เน้นหุ้นกลุ่ม Defensive และ Quality ให้ผลตอบแทนดีในภาวะผันผวน มองตลาดหุ้นไทยและเวียดนามยังไม่แพง คาดได้แรงหนุนจากอัตราเติบโตเศรษฐกิจที่เร่งตัวในปีนี้
นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Principal Investment Forum 2022: Rising Rates Rising Volatility หัวข้อ CIO’s Perspective on 2022 Outlook ว่า ภาพรวมการลงทุนปีนี้ จะเผชิญกับความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี และคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในเดือนมี.ค. มิ.ย. ก.ย.และธ.ค.
อย่างไรก็ตามมองว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับสูง ต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปีนี้ ก่อนจะเริ่มลดลงในครึ่งปีหลัง และหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนมี.ค.และมิ.ย.แล้ว คาดว่าในเดือนก.ค.นี้ FED จะเริ่มใช้มาตรการ QT (Quantitative Tightening) หรือการปรับลดขนาดงบดุล จึงไม่น่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังมีความผันผวนลดลง
ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ กระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเวียดนามในปัจจุบันถือว่ายังไม่แพง โดยน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากอัตราเติบโตของ GDP ที่เร่งตัวจากปีก่อน
จากปัจจัยดังกล่าวแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป เลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) เนื่องจากสถิติในอดีตพบว่าเมื่อตลาดพันธบัตรผันผวน ตลาดหุ้น Nasdaq ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และ Russell 2000 ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่ม Small Cap มีความผันผวนค่อนข้างสูง ส่วนการลงทุนตลาดตราสารหนี้แนะนำให้ลดอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ในพอร์ตเพื่อป้องกันความเสี่ยง
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลสินทรัพย์ต่างๆ นับจากปี 1976 ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นและเศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง พบว่าดัชนี S&P 500 แม้ให้อัตราผลตอบแทนลดลงแต่ยังเป็นบวกและสูงกว่าผลตอบแทนของดัชนี Dow Jones เล็กน้อย ส่วนหุ้นประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ให้อัตราผลตอบแทนติดลบ นอกจากนี้พบว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต หุ้นกลุ่ม Defensive และหุ้นกลุ่ม Quality ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น
“จากภาพรวมการลงทุนในปีนี้ เราได้คัดสรรกองทุนเปิด 9 กอง ได้แก่ 1.กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอลแบรนด์ (PRINCIPAL GBRAND) 2. กองทุนเปิดพรินซิเพิล ยูเอส อิควิตี้ (PRICIPAL USEQ) ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ 3.กองทุนเปิดพรินซิเพิล ยูโรเปี้ยน อิควิตี้ (PRICIPAL EUEQ) ลงทุนหุ้นยุโรป 4.กองทุนเปิดพรินซิเพิลโกลบอล ฟิกซ์ อินคัม (PRICIPAL GFIXED) ลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก 5.กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล พรีเฟอร์ซิเคียวริตี้ (PRICIPAL GPS) 6.กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (PRICIPAL GIF) ลงทุนในอินฟราสตรักเจอร์ 7.กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อินคัม อิควิตี้ (PRICIPAL APDI) ลงทุนในเอเชียแปซิฟิก 8.กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ อิควิตี้ (PRINCIPALEEF) มีนโยบายลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยฯ และ 9.กองทุนเปิดพรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม (PRICIPAL iPROP) เพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนในภาวะที่ตลาดผันผวน” นายศุภกร กล่าว
นายชาตรี มีชัยเจริญยิ่ง หัวหน้าการลงทุนฝ่ายตราสารทุน บลจ.พรินซิเพิล กล่าวในหัวข้อ Vietnam is the new Unicorn of Asia ว่า คาดการณ์ปี 2565 GDP ของเวียดนามจะเติบโตสูงถึง 7.2% ฟื้นตัวจากปี 2564 ที่อัตราเติบโต 2.58% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยปัจจุบันเวียดนามได้เร่งฉีดวัคซีนแล้วกว่า 76% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัว และงบประมาณพิเศษของภาครัฐคิดเป็น 4.2% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศเวียดนามอยู่ที่ 44% ต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ 60% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% โดยที่แนวโน้มอัตราอัตราดอกเบี้ยปีนี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เนื่องจากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนามถือว่ายังไม่แพง โดยมีค่า P/E Ratio ที่ 14.8 เท่า และประเมินว่ากำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ในปีนี้จะเติบโต 25 – 30% คาดว่ากลุ่มธนาคารจะเป็น sector ที่โดดเด่นในช่วงไตรมาสแรก เพราะสะท้อนปัจจัยลบไปหมดแล้ว
สำหรับนักลงทุนที่สนใจตลาดเวียดนาม แนะนำลงทุน กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ) ซึ่งเป็นกองทุน Flagship ที่มีนโยบายเข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นเวียดนาม ปัจจุบันมีการลงทุนในกลุ่มธนาคารสัดส่วนสูงสุด 30% มีจุดเด่นการคัดหุ้นรายตัวที่มีคุณภาพ จากความแข็งแกร่งในการทำบทวิเคราะห์และการสนับสนุนของนักวิเคราะห์ในเวียดนาม ทำให้สามารถซื้อหุ้นในต้นทุนที่ต่ำ
นายวรุณ ทรัพย์ทวีกุล ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บลจ.พรินซิเพิล กล่าวในหัวข้อ Futuristic Investment Theme ว่า พรินซิเพิลมองว่าธีมการลงทุนแห่งอนาคตที่โดดเด่น ประกอบด้วย 5 ธีมหลัก ได้แก่ 1) Automation & Robotic เนื่องจากการการขาดแคลนของประชากรวัยแรงงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนและจะมีบทบาทอย่างมากในการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 2) Healthcare Innovation เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ทำให้การใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้น
3) Millennial Consumer คือกลุ่มคนที่ในปี 1980-2000 จะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ โดยมีไลฟ์สไตล์ใช้เงินซื้อประสบการณ์ และเป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนการบริโภคของโลก 4) Electric Vehicles หรือยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนการผลิต EV ที่มีแนวโน้มลดลงในระดับเดียวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจากสนับสนุนของภาครัฐ 5) Metaverse ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น Hardware, Computing, Networking และ Payment Services เป็นต้น โดยมีโอกาสโตจากมูลค่าตลาด 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567
ทั้งนี้ กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อินโนเวชั่น (PRINCIPAL GINNO) ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภท Fund of Funds ที่มีนโยบายการลงทุนในทั้ง 5 ธีมหลักดังกล่าวที่มีความน่าสนใจ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตตาม Global Megatrends และรับประโยชน์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแนะนำทยอยสะสม Growth Stock หรือหุ้นเติบโตในช่วงกลางปี สำหรับนักลงทุนที่มีเป้าหมายระยะยาว
Mr. Adrian Tan, Executive Director, Morgan Stanley Investment Management กล่าวในหัวข้อ Global Brand – Global value through rising volatility ว่า ปรัชญาของ Morgan Stanley Investment Management ในการลงทุน Global Brand สิ่งสำคัญคือ ‘ต้องไม่สูญเสียเงินต้น ระมัดระวังในสิ่งที่ลงทุน ให้น้ำหนักกับการเลือกหุ้นที่ดี โดยมอง Absolute Return หรือผลตอบแทนที่ชัดเจนและความเสี่ยงควบคู่กัน
กลยุทธ์การลงทุนของ Morgan Stanly จึงเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงหรือ Good Quality Value Company ผ่านการคัดกรองหลายขั้น เพื่อเน้นลงทุนในระยะยาว รวมถึงให้มูลค่าของหุ้นที่เข้าซื้อในราคาที่เหมาะสม โดยเลือกลงทุนในหุ้น 10 ตัว ในสัดส่วน 60% ของพอร์ต ให้ความสำคัญในการเลือกหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขัน คำนึงถึงหลัก ESG หรือสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ซึ่งบริษัทที่เลือกลงทุนอาจจะไม่ได้เติบโตเร็วที่สุด แต่เน้นเติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยเลือกลงทุนในกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น เทคโนโลยีกลุ่มซอฟต์แวร์, กลุ่มเฮลท์แคร์, กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล แบรนด์ ถือว่าเติบโตอย่างมีสเถียรภาพ และมี Downside หรือโอกาสปรับลดลงที่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉลี่ยตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ ให้ผลตอบแทน 11.5% สูงกว่าดัชนี MSCI World ที่มีผลตอบแทน 6.5% ขณะที่ช่วง COVID-19 ผลตอบแทนของกองทุนฯ ลดลงในอัตราต่ำกว่าดัชนี MSCI World
Ms. Juliet Cohn, European Equity Portfolio Manager, Principal Global Investors กล่าวในหัวข้อ Easing Europe, no rush amid high inflation with European Equity Fund ว่ายุโรปเป็นตลาดที่ควรเข้าไปลงทุนเนื่องจากเป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่ที่ยังคงมีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้มียังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดเงิน 750,000 ล้านยูโรผ่านกองทุนฟื้นฟู (Recovery Fund) ซึ่งกว่า 37% เป็นเงินลงทุนใน Green Project ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสนับสนุนภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดของบริษัทยุโรป
ทั้งนี้มองว่าหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ในยุโรปได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และยังได้รับปัจจัยบวกจากรัฐบาลที่สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การบริโภค และนวัตกรรมใหม่ ทำให้หุ้นยุโรปมีโอกาสเติบโตต่อได้ ประกอบกับค่า P/E Ratio ที่อยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปมีหุ้นเทคโนโลยีน้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่มีหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่ขึ้นลงสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมากและยังมีโอกาสเติบโตได้อีก รวมถึงมีปัญหาเงินเฟ้อและ Supply Chain Disruption น้อยกว่าสหรัฐฯ ดังนั้นจึงแนะนำลงทุนใน ‘กองทุนเปิดพรินซิเพิล ยูโรเปี้ยน อิควิตี้’ (PRICIPAL EUEQ) ที่ลงทุนในหุ้นยุโรป ภายใต้กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Sustainable Change) และ Valuation ของหุ้นที่เหมาะสม เน้นพิจารณาหุ้นเป็นรายตัวมากกว่าพิจารณาจากปัจจัยภาพรวม โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมากองทุนฯ มีอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีชี้วัตและดีกว่าดัชนี MSCI EUROPE