HoonSmart.com>> ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารต้องยื่นสำนักงาน สอดคล้องแนวทาง Regulatory Guillotine ด้านผู้ลงทุนยังได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกณฑ์การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับการเสนอขายในหนังสือนัดประชุมให้ผู้ลงทุนประกอบการตัดสินใจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ถือหุ้นเดิม และป้องกันการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเสนอขายหุ้น PP ที่ไม่เหมาะสมได้
ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้น PP ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ยังคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอ โดยมีหลักการที่สำคัญได้แก่
(1) ยกเลิกกระบวนการยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. โดยยังต้องเปิดเผยข้อมูลในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นและกำหนดให้มีความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ในกรณีที่มีนัยสำคัญแทน
(2) ปรับปรุงให้รองรับกรณีการนำหุ้นที่เหลือจากการเสนอขายแบบ Preferential Public Offering (PPO) คือ การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในลักษณะเป็นการทั่วไปโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำนวนการจองซื้อไม่เกินกว่าสัดส่วนการถือหุ้น โดยเป็นการเสนอขายตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ให้เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะไม่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ ให้มาเสนอขาย PP ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีการเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) และเพิ่มความคล่องตัวแก่บริษัทจดทะเบียนให้สามารถระดมทุนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ
(3) ปรับปรุงการคำนวณหาราคาตลาดซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างในหลายกรณี เพื่อให้เกิดความชัดเจนและง่ายต่อการปฏิบัติ
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=779 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถศึกษาและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. หรือทาง e-mail : corporat@sec.or.th จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2565
ทั้งนี้ Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนโดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง