โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)
10 เหตุผล “ซื้อหุ้นจีน” ของโกลด์แมน ตั้งแต่ช่วงขึ้นปีใหม่ รายการ Fund Today by KTAM ได้แปลและเรียบเรียงมุมมองของ “ขาใหญ่วอลล์สตรีท” Goldman Sachs จากรายงาน GS China Musings: 10 key debates on, and reasons to buy, China in 2022 (6 ม.ค.) รวบรวมคำถามจากผู้ลงทุนชี้ 10 เหตุผล “ซื้อหุ้นจีน” ดังนี้
- 1. จีนลงทุนได้ไหม?
ตอบ: “ได้” โดยเฉพาะผู้ที่มีทางเลือกลงทุนกว้าง เช่น H-shares ในฮ่องกง A-shares ในจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่แค่ ADR (American Depositary Receipt หุ้นต่างชาติจดทะเบียนในสหรัฐ) ซึ่งกำลังเผชิญแรงผลักดันให้ออกจากตลาดสหรัฐ
- 2. GDP ชะลอแล้วหุ้นจำเป็นต้องแย่หรือเปล่า?
ตอบ: “ไม่” นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมนประมาณการเศรษฐกิจจีนโต 4.8% ในปี 2022 (11 ม.ค. ลดเหลือ 4.3%) ต่ำเป็นประวัติการณ์ถ้าไม่นับปีวิกฤต ทว่าสถิติในอดีตบ่งชี้ GDP ชะลอตัวไม่ค่อยเกี่ยวกับผลตอบแทนของหุ้น
- 3. หุ้นจะดีเมื่อกำไรโตช้าได้หรือไม่?
ตอบ: “ได้” โดยเฉพาะช่วงหลังการปรับฐานรุนแรงและวัฏจักรหุ้นกำลังเคลื่อนผ่านจากระยะ “สิ้นหวัง” ไปหา “ความหวัง” ทั้งนี้ ประมาณการ EPS growth ปี 2022 ของโกลด์แมน +7% ต่ำกว่า 13% ของ consensus
- 4. อะไรทำให้หุ้นยกระดับราคาขึ้น?
ตอบ: นโยบายผ่อนคลาย การเมืองเปลี่ยนผ่าน และกฎระเบียบลดความเข้มสู่ระดับปานกลาง จีนผ่อนคลายนโยบายในปี 2022 แตกต่างจากประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ ปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงและยกระดับราคาหุ้น
- 5. กฎระเบียบเข้มงวดผ่านจุดพีคหรือยัง?
ตอบ: “ผ่านแล้ว” ในแง่ความเข้มข้น และความเสี่ยงก็สะท้อนในราคา นโยบายชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะเรื่อง VIE (Variable Interest Entities บริษัทตัวแทนนอกประเทศจีน) และการจดทะเบียนหลักทรัพย์ในตลาดต่างประเทศ
- 6. ระดับราคาหุ้นน่าสนใจจริงๆใช่ไหม?
ตอบ: “ใช่” P/E (Forward) ของดัชนี MSCI China ประมาณ 12x ต่ำสุดในช่วงปีหลังๆและถูกมากเทียบกับตลาดหุ้นโลก macro PE model ของโกลด์แมนชี้การซื้อหุ้น ณ ระดับราคานี้มักให้ผลตอบแทนที่ดี (อดีตมิได้ยืนยันอนาคต)
- 7. ปัญหาหนี้อสังหาฯจะพังตลาดหุ้นหรือเปล่า?
ตอบ: “ไม่น่าพัง” กิจกรรมภาคอสังหาฯชะลอตัวมากก็จริงแต่กรณีฐาน (base case) ของโกลด์แมนชี้ “ไม่น่าลุกลาม” และราคาตลาดก็สะท้อนเช่นนั้น
- 8. จีนจะผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid หรือไม่?
ตอบ: “ไม่” จนกว่าจะถึงปลายปี กลุ่มบริโภคจึงน่าจะฟื้นตัวกระท่อนกระแท่น แต่โอกาสลงทุนหุ้นกลุ่มอื่นๆเปิดกว้าง
- 9. A-shares หรือ H-shares ดีกว่ากัน?
ตอบ: “ชอบทั้งคู่” A-shares ตลาดใหญ่ สภาพคล่องสูง เติบโตสูง นักลงทุนโลกยังถือครองน้อย H-shares เด่นตรง upside สูงน่าดึงดูด
- 10. ซื้อ Laggards (หุ้นอินเตอร์เน็ต) หรือ Winners (หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ)?
ตอบ: “ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง” แต่ควรหา alpha จากหุ้นที่ผลประกอบการมีโอกาสโตเร็วกว่า GDP (Growth) และธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบาย “รุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) เป็นสำคัญ
ครบ 1 เดือนพอดี เราทบทวนเหตุผลพร้อม update ข้อมูลแล้วยิ่ง “เห็นด้วย” กับมุมมองของโกลด์แมน ตลาดจีนมกราคมผันผวนกดราคาย่อลงก่อนหยุดยาวยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ
ฮ่องกงเปิดวันแรกหลังตรุษจีน (4 ก.พ.) ดัชนีฮั่งเส็ง +3.2% พุ่งแรงพร้อมหุ้นโลกเริ่มรีบาวด์
สัปดาห์นี้เปิดปีเสือเต็มตัวยก #ทีมจีน ราคาปัจจุบันน่าเข้าทั้ง KT-Ashares และ KT-CHINA สำหรับผู้ที่ปริมาณหุ้นจีนในพอร์ตยังต่ำกว่าแผนการลงทุน ส่วนใครมีหุ้นจีนครบเพียงพอแล้วก็ถือต่อไปได้ หากต้องการซื้อถัวควรเติมแค่ให้สัดส่วนกลับขึ้นมาเท่ากับระดับเป้าหมายที่วางไว้
KT-CHINABOND ลงทุนรับ “ลมหนุน” ดอกเบี้ยจีนขาลง ซึ่งทำให้ตราสารหนี้จีนได้เปรียบเหนือตลาดอื่นๆในปี 2022 กองทุนหลัก “โชว์แกร่ง” ผ่านสารพัดความท้าทายด้วยกลยุทธ์ Go Anywhere ปรับพอร์ตยืดหยุ่นได้ทั้ง 2 แกน: onshore – offshore และ investment grade – high yield ตัวอย่างสถานะลงทุนที่เป็นไปได้ระยะนี้ เช่น onshore IG ช่วยสร้างเสถียรภาพ สามารถยืดดูเรชั่นเพิ่มผลบวกจากนโยบายผ่อนคลายของ PBOC และ offshore HY คัดเลือกตราสารของบริษัทที่แข็งแรงเพื่อรับยีลด์สูงพร้อม upside หากสภาวะทางการเงินคลี่คลาย เป็นต้น
ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสองช่องทาง นอกจากนี้ยังมีคลิปให้ดูย้อนหลังได้ที่ Youtube: KTAM TV ONLINE
#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน