HoonSmart.com>>”อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย”ผู้นำการผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ราคาหุ้นผันผวนสูง พลิกจากบวกสูงสุดแตะ 24 บาท ปิด 22.40 บาท ครึ่งวัน นักลงทุนชิงขายหุ้นกังวลโดนหางเลขรัฐเตรียมเก็บภาษีเค็มในปี 65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสินค้าอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป 6 กลุ่มถูกกระทบ แนะใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันไดตามปริมาณโซเดียม บล.เคทีบีเอสทีให้มูลค่าสูง 29 บาท บล.โนมูระตีราคาเพียง 19.80 บาท
วันที่ 29 ธ.ค.2564 หุ้นบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย(RBF) ราคาผันผวนสูง เช้าปรับขึ้นไปสูงสุด 24 บาท แต่กลับมาปิดที่ 22.40 บาท -0.90 บาทหรือ -3.86% มูลค่าซื้อขายรวม 648 ล้านบาท สำหรับครึ่งวันเช้า นักลงทุนกังวลผลกระทบจากภาครัฐเล็งจัดเก็บภาษีความเค็ม ซึ่งจะประกาศแนวทางปฎิบัติในปี 2565
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสินค้าอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป 6 ประเภท คาดว่าจะได้รับผลกระทบเรียงตามลำดับปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์จากมากไปน้อยตามลำดับ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น/แช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว โดยเบื้องต้นประเมินว่า มูลค่าตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด
กลุ่มสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป อาหารแช่เย็น/แช่แข็งแบบพรีเมียม ผู้ประกอบการอาจผลักภาระต้นทุนภาษีไปสู่ราคาสินค้าได้บางส่วน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตอาหารสุขภาพมากขึ้นทดแทน เนื่องจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มความเต็มใจที่จะจ่าย
“แนะนำว่าการพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็ม ภาครัฐน่าจะคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตมีระยะเวลาปรับตัว โดยแนวทางที่เป็นไปได้ น่าจะเป็นการจัดเก็บจากผู้ผลิตอาหารโดยตรง และใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันไดตามปริมาณโซเดียม คือ เค็มมาก เก็บภาษีมาก ซึ่งน่าจะกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีที่แตกต่างกันสำหรับสินค้าอาหารแต่ละประเภท ในลักษณะเดียวกับการจัดเก็บภาษีความหวานของสินค้าประเภทเครื่องดื่ม”บริษัทศูนย์วิจัยกวิกรไทยระบุ
ในต่างประเทศการจัดเก็บภาษีตามปริมาณเกลือสูงในอาหารมีการใช้ในบางประเทศ อาทิ ฮังการี และโปรตุเกส ไม่ว่าจะเป็นของขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป ซีเรียล ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม หากมีปริมาณเกลือเกินกว่า 1 กรัมต่ออาหาร 100 กรัม ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารในฮังการีกว่า 40% ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารเพื่อลดปริมาณโซเดียมลง
ส่วนผู้บริโภคอย่างน้อย 14% เปลี่ยนไปเลือกซื้ออาหารสุขภาพทดแทนอาหารที่มีโซเดียมสูง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่อาจนำมาใช้เพื่อช่วยลดการบริโภคเค็มลง แต่ประสิทธิผลยังขึ้นอยู่กับการใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคโซเดียมเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับการบริโภคเกลือ 1.8 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำในปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน โดยประมาณการค่ารักษาพยาบาลของ 5 กลุ่มโรคข้างต้น อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท)
นักวิเคราะห์ 3 ใน 7 แนะนำซื้อหุ้น RBF และ 4 รายให้ถือ ล่าสุด บล.เคทีบีเอสที แนะซื้อให้มูลค่าเหมาะสม 29 บาท ส่วนบล.โนมูระ พัฒนสินให้เพียง 19.80 บาท ขณะที่ราคาเป้าหมายเฉลี่ย อยู่ที่ 22.53 บาท