HoonSmart.com>> บลจ.กรุงไทย รับ 2 รางวัล “KT-PIF-D และ KT-BOND” คว้ากองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2564 จาก Money & Banking Awards 2021 พร้อมย้ำ ปี 65 เพิ่มความหลากหลายของกองทุน ตอบโจทย์นักลงทุนทุกกลุ่ม
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) ได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2564 จำนวน 2 รางวัล จาก Money & Banking Awards 2021 ประกอบด้วย รางวัลประเภทกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจากกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ บอนด์ ฟันด์ (KT-BOND) และประเภทกองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน จากกองทุนเปิดกรุงไทย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล ชนิดจ่ายเงินปันผล (KT-PIF-D)
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า รางวัลเกียรติยศที่ได้รับนี้เปรียบเสมือนขวัญและกำลังใจให้กับทีมงาน KTAM รวมถึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้กับนักลงทุนว่า KTAM สามารถสร้างโปรดักต์ที่ดี น่าสนใจ และมีคุณภาพ กลับไปสู่นักลงทุน รวมถึงมาตรฐานในการทำงาน บริหารจัดการกองทุนเพื่อให้ตอบโจทย์แก่นักลงทุนให้มากที่สุด และสิ่งที่สำคัญในการบริหารกองทุน คือการเลือกกองทุนต้นทางที่ดี
สำหรับกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ บอนด์ ฟันด์ หรือ KT-BOND มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ PIMCO FUNDS : GLOBAL INVESTORS SERIES PLC – Global Bond Fund (Master Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (Retail Fund) เพียงกองเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่ง PIMCO นับเป็น บลจ.ที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี สิ่งที่โดดเด่นของกองทุนนี้คือ มีการกระจายการลงทุนได้อย่างสมดุล และให้ความสำคัญกับ Credit Risk นโยบายการลงทุนของกองทุนหลักเพื่อสร้างผลตอบแทนรวม (Total Return) ให้ได้มากที่สุด และสอดคล้องกับการรักษาเงินทุนและการบริหารเงินลงทุนอย่างรอบคอบ กองทุนจะลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ของกองทุน โดยการกระจายพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ ในสกุลเงินหลักของโลกที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล ชนิดจ่ายเงินปันผล หรือ KT-PIF-D มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอยู่ระหว่างการกระจายการถือหน่วยลงทุนหรือเปิดเสนอขายครั้งแรก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
นางชวินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนักลงทุนนั้น นอกจากเรื่องผลตอบแทนที่สม่ำเสมอแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการอีกเรื่องคือ การติดต่อสื่อสารระหว่าง KTAM กับนักลงทุน โดย KTAM ได้ให้ความสำคัญ และถือเป็นอีกปัจจัยที่ในปัจจุบันให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น KTAM จึงได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับนักลงทุนให้ได้มากที่สุด โดยได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางให้กับนักลงทุนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้นักลงทุนสามารถ ถาม-ตอบข้อสงสัย รวมถึงได้รับข่าวสาร หรือข้อมูล ใด ๆจาก KTAM ทำให้เพิ่มความสบายใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
“โลกการเงินนั้นเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร สภาพเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการบริหารกองทุนทั้งสิ้น ดังนั้น การมีวินัยอยู่กับสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเห็นภาพรวมของตลาดได้เร็ว และปรับเปลี่ยนการบริหารไห้เป็นปัจจุบันได้อยู่เสมอ”นางชวินดา กล่าว
ดังนั้น ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปของสถานการณ์โลกการเงินที่มีความหมุนเวียนตลอดเวลา การเตรียมเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ และตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย สิ่งที่ KTAM ดำเนินการอยู่ คือนำเสนอโปรดักต์ ที่ออกมาตอบโจทย์ต่อทุกความต้องการที่หลากหลายของนักลงทุน จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา บริษัทจึงมีโปรดักต์นำเสนอผลิตภัณฑ์แก่นักลงทุนอยู่เสมอ รวมถึงในอนาคตก็ยังมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับตลาดและความต้องการของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือแม้แต่สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นประจำทุกปีอย่างกองรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจอนาคตของ KTAM มองว่าปัจจุบันตลาดนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาสิ่งที่เคยมองว่าเพียงพอ อนาคตอาจจะไม่พอก็ได้ ดังนั้น แม้ว่า KTAM จะลงทุนในกองทุนที่หลากหลายทั่วโลก แต่ก็เชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องมีประเทศหรือตลาดที่เติบโตขึ้นมาอีก เพื่อให้ครอบคลุมทุกโอกาสการลงทุนในอนาคตซึ่งการให้น้ำหนักการลงทุนนั้นก็นั้นก็ต้องแปรผันไปตามสถานการณ์ด้วยเช่นกัน
“ปี 2565 เชื่อว่าหลายประเทศในโลกจะเริ่มมองโควิด-19 เป็นโรคปกติเช่นเดียวกับไข้หวัดอื่นๆ ซึ่งมองว่าการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จะต้องดีขึ้นไม่มากก็น้อย รวมถึงหลายประเทศก็จะเริ่มปรับตัวเข้าหาสภาวะเศรษฐกิจแบบปกติ ถ้าเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้ ทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ”นางชวินดา กล่าว