HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกาะติดผลประชุมเฟด 14-15 ธ.ค. หลังเงินเฟ้อยังเร่งตัวแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีที่ 6.8% YoY กดดันเฟดปรับแผนลดวงเงิน QE เร็วขึ้นกว่าเดิม และอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร่งขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ยังเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ที่ 6.8% YoY ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สัปดาห์ก่อนหน้า (28 พ.ย.-4 ธ.ค.) ยอดขอสวัสดิการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 52 ปี โดยอยู่ที่ 1.84 แสนราย ทำให้เฟดยังคงเผชิญแรงกดดันให้ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัวเร็วกว่าขึ้นกว่าเดิม
โดยเฟดอาจพิจารณาปรับQE ในอัตราที่เร่งขึ้น เพื่อให้วงเงิน QE ทั้งหมดสิ้นสุดลงเร็วกว่าเดือนมิ.ย. 2566 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า และอาจเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณ มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในช่วงกลางปี 2565 หากแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงเร่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับประมาณการเงินเฟ้อสูงขึ้นให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้น และเป็นไปได้ที่ Fed Dot Plot จะบ่งชี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าการแถลงประมาณการครั้งก่อนในเดือนก.ย. 2564 อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า อย่างไรก็ดี เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังและคงไม่ปรับประมาณการเงินเฟ้อสูงกว่าที่ควร เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะส่งสัญญาณการปรับทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัวเร็วกว่าที่ตลาดคาด จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน
สำหรับผลกระทบต่อไทย เนื่องจากตลาดมีการคาดการณ์การเร่งลดวงเงิน QE ไปแล้ว ดังนั้น หากเฟดมีการประกาศลด QE ในอัตราที่เร่งขึ้นในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ ผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ตลอดจนผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนจะมีจำกัด แต่สิ่งที่จับตาในการประชุมครั้งนี้อยู่ที่ประมาณการเงินเฟ้อและ Fed Dot Plot ซึ่งหากเฟด ส่งสัญญาณทิศทางที่แข็งกร้าว (Hawkish) กว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจมีทิศทางอ่อนค่าลงได้ในระยะข้างหน้า