NER มั่นใจรายได้ปี64-65 โตเข้าเป้า วิจัยผลิตสินค้ายางธรรมชาติปลายน้ำ

HoonSmart.com>> “นอร์ทอีส รับเบอร์” ตั้งเป้าปี 65 รายได้แตะ 2.8 หมื่นล้านบาท มั่นใจผลงานปีนี้ 2.45 หมื่นล้านบาทตามเป้า ธุรกิจยางแนวโน้มโตต่อ ทั้งความต้องการและราคายางขาขึ้น ส่วนธุรกิจแผ่นปูนอนสัตว์ เริ่มผลิต ก.พ.65 ปีแรกสร้างรายได้ 500 ล้านบาท เตรียมตั้งตัวแทนขายเฟสแรก 13 ประเทศ ปักเป้าหมายใหม่ มุ่งสู่การผลิตสินค้ายางธรรมชาติปลายน้ำมากขึ้น ตั้งทีม R&D วิจัยต่อยอดสินค้าใหม่ๆ  

ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 29,280 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจยางธรรมชาติ 28,780 ล้านบาท และธุรกิจแผ่นปูนอนปศุสัตว์ 500 ล้านบาท จากปี 2564  คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 24,500 ล้านบาท

ขณะที่กำลังการผลิตใหม่อีก 50,000 ตัน จะเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาส 1/2565 ส่งให้รวมทั้งปีอยู่ที่ 51,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ปัจจุบันบริษัทมียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึงเดือน มี.ค.-เม.ย. ส่วนแนวโน้มราคายางธรรมชาติในปี 2565 คาดว่ายังอยู่ในระดับที่สูง และมีแนวโน้มปรับขึ้น จากปีนี้คาดว่าราคาจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 65-67 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้หากปัญหาขาดแคลนชิปในรถยนต์เริ่มคลี่คลายลง บริษัทคาดว่ายอดขายรถยนต์ทั่วโลก จะมีทิศทางที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ 26 รายทั่วโลก ส่วนลูกค้าใหม่ที่อินเดีย มีแนวโน้มเติบโตที่ดี หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงก่อน คาดว่ายอดขายที่ประเทศอินเดียจะเพิ่มเป็น 5% ของยอดขายรวม

ขณะเดียวกันธุรกิจแผ่นปูนอนปศุสัตว์จะเริ่มผลิตได้ในเดือน ก.พ.2565 บริษัทมีแผน 3 เฟส ในปี 2565-2566 ในเฟสแรก บริษัทจะเริ่มแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายใน 13 ประเทศ เฟสที่สองจะแต่งตั้งตัวแทนเพิ่มอีก 7 ประเทศ และเฟสสุดท้ายแต่งตั้งตัวแทนอีก 9 ประเทศ โดยคาดว่าปริมาณขายปี 2565-2567 อยู่ที่ 280,500 แผ่น , 565,000 แผ่น และ 675,600 แผ่น ตามลำดับ และมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 503.92 ล้านบาท , 1,017.25 ล้านบาท และ 1,217.22 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับทิศทางที่บริษัทจะเดินไปข้างหน้าในอนาคต บริษัทมีแผนจะมุ่งสู่ธุรกิจผลิตสินค้ายางธรรมชาติสำเร็จรูปเป็นหลัก โดยได้ตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คาดว่าจะเริ่มเห็นการเติบโตหลังปี 2566 เป็นต้นไป

ส่วนเงินลงทุนในปี 2565 บริษัทตั้งไว้ประมาณ 240 ล้านบาท โดยจะใช้ลงทุนในโครงการ Solar Rooftop ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ทดแทนการซื้อไฟฟ้า , ใช้ลงทุนในหน่วยงาน R&D ประมาณ 100 ล้านบาท และลงทุนติดตั้งหุ่นยนต์อัจฉริยะในโรงงาน ประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนการใช้แรงงานคน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

“เราได้วางแผนการทำธุรกิจ 5 ปีไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกันเราก็วางแผนที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2583 ด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาดในโรงงานมากขึ้น ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน เรามีความสนใจเข้าลงทุนน้อยลง เนื่องจากมองว่าการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง จากการที่มีผู้เล่นหลายราย” นายชูวิทย์ กล่าว