BEM ตรึงค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ 1 ปีเฉพาะคูปองชำระ

HoonSmart.com>> “ศักดิ์สยาม” เจรจา BEM ชะลอขึ้นค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ด้าน BEM เสนอโปรโมชั่นใช้คูปองชำระค่าผ่านทางอัตราเดิมเป็นเวลา 1 ปี เริ่ม 15 ธ.ค.2564 – 15 ธ.ค.2565

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมและคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานคณะกรรมการ และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนจากกรณีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ธ.ค.2564

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ทางด่วน ผลการหารือในครั้งนี้จึงเห็นควรให้ กทพ. และ BEM กำหนดแนวทางมาตรการเยียวยาให้ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการปรับค่าผ่านทางดังกล่าว จึงขอให้ BEM พิจารณาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และช่วยเหลือประชาชนโดยการออกมาตรการในการส่งเสริมการตลาดหรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทางในวันที่ 15 ธ.ค.2564

ทั้งนี้ ผู้แทน BEM ได้ตอบแนวทางดังกล่าว โดยออกเป็นลักษณะของการส่งเสริมการตลาด หรือ Promotion ในรูปแบบผู้ใช้ทางที่ใช้คูปองชำระค่าผ่านทางในอัตราราคาเดิมที่ใช้อยู่ เป็นระยะเวลา 1 ปี (15 ธ.ค.2564 – 15 ธ.ค.2565) โดย BEM จะทำหนังสือยืนยันมาตรการดังกล่าวแจ้งมายัง กทพ. เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางด่วนในช่วงดังกล่าวต่อไป

สำหรับสัญญาสัมปทานทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุก5 ปี นับจากเปิดโครงการ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 ซึ่งจะครบ 5 ปี ในวันที่ 15 ธ.ค.2564 โดยตามร่างประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางโครงการ ทางด่วนศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฯ สำหรับรถ 4 ล้อ อัตราปัจจุบัน 50 บาท ปรัเพิ่ม 15 บาท เป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้ออัตราปัจจุบัน 80 บาท ปรับเพิ่ม 25 บาท เป็น 105 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ อัตราปัจจุบัน 115 บาท ปรับเพิ่ม 35 บาท เป็น 150 บาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางของ กทพ. ที่อยู่ในการกำกับดูแลตามสัญญาสัมปทานของ BEM จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายศรีรัช ทางพิเศษสายอุดรรัถยา และทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) มาใช้ โดย ให้ กทพ. จัดทำ action plan ให้ชัดเจนเพื่อเร่งรัดการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป

สำหรับการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะนั้น BEM ยินดีให้ความสนับสนุนกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยในระยะแรก ได้มีการพัฒนาระบบ EMV Contactless ซึ่งเป็นการหักเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของธนาคาร ทั้งในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมบูรณาการร่วมกับรถโดยสารของ ขสมก. และทางพิเศษ และจะได้มีการขยายผล ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ มองการใช้คูปองชำระค่าผ่านทางในอัตราราคาเดิมถือว่าไม่ได้ผิดขัดสัมปทานเพราะ BEM สามารถขึ้นค่าทางด่วนตามสัมปทานได้เป็น 65 บาท (จาก 50 บาท) เพียงแต่ BEM ออกคูปอง Promotion เพื่อมาช่วยลดค่าครองชีพ โดยประชาชนที่ต้องการได้รับสิทธิ์โปรโมชั่นนั้นต้องซื้อคูปองเท่านั้น เดินทางผ่าน Easy pass หรือจ่ายเงินปกติ ต้องจ่ายบนอัตราค่าโดยสารใหม่ที่ 65 บาท โดยหลักการอาจจะออกมาเป็นการขายคูปองช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2565 แต่คูปองมีอายุใช้ได้ถึงเดือน ธ.ค. 2565

เบื้องต้นอาจจะคำนวณผลกระทบค่อนข้างจาก แต่ถ้ามองในกรณีเลวร้ายว่าผู้โดยสารทุกคนซื้อคูปองโปรโมชั่นหมดเลยจะกระทบกำไรปี 2565 ที่บล.ไทยพาณิชย์ประเมิณไว้ 5.6% แต่ในเชิงราคาเป้าหมายนั้นได้รับผลกระทบที่จำกัด เพราะเป็นการกระทบแค่ 1 ปี

“ระยะสั้นราคาหุ้นอาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบบ้างในเชิง Sentiment แต่เราคิดว่าผลกระทบจริงอาจจะค่อนข้างที่จะจำกัด เรามองว่านักลงทุนสามารถใช้จังหวะที่ราคาปรับตัวลงเพราะประเด็นนี้เป็นจังหวะทยอยสะสมได้ ยังคงคำแนะนำ OUTPERFORM ราคาเป้าหมาย 10 บาท”บล.ไทยพาณิชย์ ระบุ