IVL ออกหุ้นกู้ยั่งยืนวงเงิน 1 หมื่นลบ. ดอกเบี้ย 2.48-3.60%

HoonSmart.com>> “อินโดรามา เวนเจอร์ส” ออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท มูลค่าสูงสุดในประเทศไทย เปิดเสนอขายนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ อายุหุ้นกู้ 5, 7 และ 10.5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.48% ต่อปี สูงสุด 3.60% ต่อปี นำเงินชำระหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดและเงินทุนหมุนเวียน

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ทั้งหมด 3 ชุด โดยมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีมาอย่างยาวนานของบริษัทในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ถือเป็นหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทยและเป็นรายแรกที่เสนอขายให้กับทั้งผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่

สำหรับหุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 มูลค่า 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.48% ต่อปี หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 7 ปี กำหนดหนดไถ่ถอนปี 2571 มูลค่า 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปีและหุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 10.5 ปี กำหนดไถ่ถอนปี 2575 มูลค่า 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.60% ต่อปี โดยกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดที่ 1 ทุก 3 เดือน ส่วนหุ้นกู้ชุดที่ 2 และ 3 จ่ายทุก 6 เดือน

วัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อจ่ายชำระคืนหุ้นกู้ของบริษัทที่ครบกำหนดไถ่ถอน และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป (Working capital)

การออกหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การจัดหาเงินทุนของไอวีแอล ซึ่งมุ่งเน้นแหล่งเงินทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท นอกจากนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวเป็นไปตามหลักการการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลของ International Capital Markets Association (ICMA) และมาตรฐาน Sustainability-Linked LoanPrinciples ของLoan Market Association (LMA)

ทั้งนี้ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนของบริษัทครั้งนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของไอวีแอล ทั้งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมให้ได้ไม่น้อยกว่า 10% ภายในปี 2568 (เทียบกับปีฐาน 2563) การใช้ขวด PET หลังการบริโภคในการรีไซเคิลได้ในจำนวนไม่น้อยกว่า 750,000 ตันต่อปี ภายในปี 2568 และการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25% ของปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทใช้ภายในปี 2573

ยาช โลเฮีย

นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) กล่าวว่า หุ้นกู้ฯ ดังกล่าวสะท้อนความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของไอวีแอลต่อความยั่งยืนและการสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียของไอวีแอล นับเป็นก้าวสำคัญต่อการดำเนินงานของไอวีแอลที่จะเพิ่มศักยภาพให้แก่โครงสร้างเงินทุนของไอวีแอล รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

“ความสำเร็จของการออกหุ้นกู้ฯ ครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโลกร้อน และกำลังปรับทิศทางการลงทุนไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หุ้นกู้สนับสนุนความยั่นยืนในวันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตลาดทางการเงินเห็นคุณค่าในความพยายามดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเรา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น”นายยาช กล่าว

ธิติ ตันติกุลานันท์

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การร่วมกับไอวีแอลในครั้งนี้ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านความยั่งยืนครั้งสำคัญสำหรับตลาดทุนในประเทศไทย หุ้นกู้สนับสนุนความยั่งยืนถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนไทย แต่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมต่อผู้ออกหุ้นกู้ฯ และนักลงทุน

สำหรับหุ้นกู้ฯ ของไอวีแอลนี้มีโครงสร้างที่แตกต่างจากการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างที่เคยมีมาแล้วในตลาด เนื่องจากมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในเรื่องของการซื้อการรับรองคุณลักษณะพลังงาน (Energy Attribute Certificate: EAC) หรือการชดเชยในรูปแบบของการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offsetting) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืน และเป็นการนำเสนอนวัตกรรมให้แก่ตลาด การตอบรับอย่างดีต่อการออกหุ้นกู้ฯ ดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นใจต่อไอวีแอลและความสนใจด้านความยั่งยืนของนักลงทุน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไอวีแอลได้รับสินเชื่อที่มีเงื่อนไขเกี่ยวเนื่องกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ได้แก่ สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) รายแรกของประเทศไทยมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 200 ล้านยูโรจากธนาคารมิซูโฮของประเทศญี่ปุ่น สินเชื่อสนับสนุนความยั่งยืนซึ่งอนุมัติให้แก่บริษัทต่างชาติ (Sustainability-Linked Ninja Loan) รายแรกของประเทศไทยมูลค่า 225 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารและสถาบันการเงิน 16 แห่งในประเทศญี่ปุ่น และสินเชื่อสีน้ำเงินมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดสรรโดย International Finance Corporation และได้รับการสนับสนุนจาก Asian Development Bank และ DEG