บล.กสิกรฯคาดหุ้นยืนเหนือ1,600 จุด สูงสุด 1,665 สัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาด 4 ปัจจัยชี้นำตลาด กำไรแบงก์ไตรมาส 3/64 สถานการณ์โควิด ปัจจัยการเมือง ทิศทางเงินลงทุนต่างประเทศ ด้านค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 33.16 บาท 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (18-22 ต.ค.) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,615 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,655 และ 1,665 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบจ. โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร สถานการณ์โควิด ปัจจัยทางการเมือง และทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น

หุ้นกลับมาปิดใกล้เคียงกับระดับปิดสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,638.34 จุด ลดลง 0.07% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 86,443.97 ล้านบาท ลดลง 5.88% ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.10% มาปิดที่ 554.45 จุด

หุ้นร่วงลงในวันแรกของสัปดาห์ ตามแรงขายจากสถาบันในประเทศ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา ขานรับปัจจัยบวกจากการประกาศแผนเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี หุ้นลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ระหว่างรอประเมินสถานการณ์โควิด หลังพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อหลายแห่ง ตลอดจนรอติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบริษัทจดทะเบียน

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (18-22 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 33.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ รับข่าวการเปิดประเทศ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกประคองไว้จากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงมากกว่าที่คาด

ในวันศุกร์ (15 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.30 เทียบกับระดับ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ต.ค.)